งานบริการสังคม

ที่มาของงานบริการสังคม

        การทำงานบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์ในความรับผิดชอบของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เริ่มต้นมาจากแนวคิดเพื่อใช้เป็นมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชนภายใต้เงื่อนไขการคุมประพฤติ โดยศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติต้องทำงานหรือกิจกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน หรือองค์กรสาธารณกุศล โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือค่าจ้าง โดยบัญญัติไว้ในกฎหมายเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ใช้การทำงานบริการสังคมเป็นมาตรการลงโทษทางเลือก สำหรับผู้ต้องโทษปรับที่ยังไม่มีเงินชำระค่าปรับ และในปีเดียวกันนี้เองได้ใช้การทำงานบริการสังคมเป็นวิธีการร่วมกับการดำเนินการอื่นที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดำรงชีวิตห่างไกลจากยาเสพติด อีกทั้งยังมีแนวโน้มให้การทำงานบริการสังคมเป็นมาตรการแทนการลงโทษจำคุกในอนาคต

 วัตถุประสงค์ของการทำงานบริการสังคม

         1. เพื่อกระตุ้นให้ผู้กระทำผิดตระหนักถึงความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อผู้อื่น และสังคมมากยิ่งขึ้น เกิดความภาคภูมิใจว่ายังมีคุณค่าและสังคมยอมรับว่าผู้กระทำผิดมีความสำนึกตัวและยังทำคุณประโยชน์ต่อผู้อื่น

           2. ผู้กระทำผิดได้พัฒนาตนเองในด้านความรู้ ทักษะ ความมีวินัย ตลอดจนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

           3. เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้ชดเชยความเสียหายที่ก่อขึ้นด้วยการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม

           4. เป็นการนำมาตรการทางเลือกอื่นมาใช้แทนวิธีการลงโทษจำคุกหรือโทษปรับ โดยการจำกัดเสรีภาพ จำกัดเวลาพักผ่อนส่วนตัว และให้ทำงานที่

เป็นประโยชน์แก่สังคม

รูปแบบ  การทำงานบริการสังคม มี 2 รูปแบบ คือ

        1.  การทำงานบริการสังคมแบบรายบุคคล หมายถึง การจัดให้ผู้กระทำผิดแต่ละคนไปทำงานบริการสังคมตามหน่วยงานภาคีตามความรู้  ความสามารถ  หรือการทำงานตามที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงาน หรือชุมชน

        2.  การทำงานบริการสังคมแบบกลุ่ม หมายถึง การจัดให้ผู้กระทำผิดทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มซึ่งจะช่วยฝึกทักษะด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นให้ดีขึ้น หรือเป็นการทำงานตามความต้องการของชุมชนที่ลักษณะงานต้องใช้คนจำนวนมาก หรือเพื่อส่งเสริมการยอมรับและความสัมพันธ์อันดี

กิจกรรม  การทำงานบริการสังคม มีหลากหลายประเภท อาทิ การพัฒนาหรือทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว การปลูก และดูแลสวนป่าหรือสวนสาธารณะการช่วยเหลือดูแลอำนวยความสะดวก หรือให้ความบันเทิงแก่คนพิการ เด็กกำพร้า คนชรา ในสถานสงเคราะห์ หรือผู้ป่วยในสถานพยาบาล การสอนกีฬา ฝึกสอนวิชาชีพอื่นๆ เช่น สอนซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้ารถจักรยานยนต์ และกิจกรมอื่นๆ เช่น การทำงานในห้องสมุด การทาสีเครื่องหมายจราจร การบริจาคโลหิต งานอาสาสมัครช่วยผู้ประสบภัย หรือร่วมรณรงค์ป้องกันอาชญากรม เป็นต้น

 การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ

        การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับคืออะไร คือ ทางเลือกของผู้กระทำผิดที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษปรับ แต่ไม่มีเงินเสียค่าปรับต้องทำงานบริการสังคมทดแทนให้แก่สังคม ชุมชน หรือองค์กรสาธารณกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไร

โดยถืออัตราหักค่าปรับวันละ 500 บาท

ผู้ใดที่มีสิทธิ์ขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ

        ผู้ต้องโทษปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา30/1 ซึ่งไม่ใช่นิติบุคคลและและไม่มีเงินชำระค่าปรับ

ศาลจะมีคำสั่งทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับอย่างไร  มี 2 กรณี คือ

1. เมื่อศาลสอบถามและแจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องโทษปรับที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับและผู้ต้องโทษปรับ

ต้องการทำงานบริการสังคมแทนก็สามารถยื่นคำร้องตามแบบ บ.ส.โดยศาลจะจัดให้มีการช่วยเหลือหรือ

อำนวยความสะดวกในการจัดทำคำร้องและประวัติตามแบบ บ.ส.เพื่อยื่นคำร้อง ซึ่งศาลอาจมีคำสั่งให้

ทำงานบริการสังคมได้เลย โดยไม่ต้องถูกนำตัวไปกักขัง

 2. ผู้ต้องโทษปรับที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษปรับ แต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับและมีความประสงค์จะทำงานบริการสังคมแทนในภายหลังสามารถยื่นคำร้อง (ซึ่งให้ผู้เกี่ยวข้องขอรับแบบฟอร์มได้จากฝ่ายประชาสัมพันธ์ศาล) โดยแจ้งความต้องการขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับลงในแบบคำร้อง (แบบ บ.ส.1) และกรอกประวัติส่วนตัวลงในแบบประวัติจำเลย (บ.ส.2) แล้วยื่นต่อศาล

การอนุญาตหรือไม่อนุญาต ศาลจะพิจารณาจากอะไร

      ศาลจะพิจารณาจากฐานะการเงิน ประวัติส่วนตัว ครอบครัว สภาพแวดล้อม ประวัติการกระทำความผิด และสภาพความผิดของผู้ต้องโทษปรับ รวมถึงประโยชน์ส่วนรวมที่เกิดจากการทำงานบริการสังคม

ใครเป็นผู้ดูแลการทำงานบริการสังคม

      ศาลจะสั่งให้พนักงานคุมประพฤติเจ้าหน้าที่ของรัฐหน่วยงานของรัฐ องค์กรสาธารณกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไรเป็นผู้ดูแลการทำงาน

การกำหนดประเภทของงานและระยะเวลาทำงาน พิจารณาจากอะไร

ศาลจะพิจารณาจากเพศ อายุ ประวัติ การนับถือศาสนา ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาสุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ หรือสภาพความผิดของผู้ต้องโทษปรับ ทั้งนี้ เพื่อความเหมาะสมและไม่เป็นการสร้างภาระกับผู้ต้องโทษปรับมากเกินไป ซึ่งรายละเอียดได้กำหนดไว้ในระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการกำหนดจำนวนชั่วโมง ที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวันและแนวปฏิบัติในการให้ทำงานบริการสังคมฯ พ.ศ. 2546

บทบาทของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม

        กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการดำเนินการให้ผู้ต้องโทษปรับ ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ ตามคำสั่งศาลโดยมีพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ดูแล และดำเนินการจัดให้ผู้ต้องโทษปรับทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ

ลักษณะหรือประเภทของงานในการทำงานบริการสังคม

     - การทำงานช่วยเหลือดูแลอำนวยความสะดวกหรือให้ความบันเทิงแก่คนพิการ คนชรา เด็กกำพร้า หรือผู้ป่วยในสถานสงเคราะห์หรือสถานพยาบาล 

           - การทำงานวิชาการหรืองานบริการด้านการศึกษา เช่น การสอนหนังสือ การค้นคว้าวิจัย หรือการแปลเอกสาร  

           - การทำงานที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น งานช่างฝีมือ  เครื่องยนต์  ก่อสร้าง  คอมพิวเตอร์  หรือวิชาชีพอย่างอื่น 

           - การทำงานบริการสังคมทั่วไป เช่น การทำความสะอาดหรือพัฒนาสถานที่สาธารณะ งานปลูกป่าหรือดูสวนป่าหรือสวนสาธารณะ

              - การบริจาคโลหิต การร่วมรณรงค์ในกิจกรรม/โครงการเพื่อสังคม

              - งานอื่นๆ  ที่ไม่ขัดกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวัตถุประสงค์ของการทำงานบริการสังคม

การทำงานบริการสังคมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

          1. การทำงานบริการสังคมตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25)  .. 2559 มาตรา 56 เป็นกรณีที่ศาลรอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้แก่ผู้กระทำผิดไม่เกินห้าปี  โดยศาลอาจกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุม
ความประพฤติไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้ซึ่งเงื่อนไขการคุมความประพฤติข้อหนึ่งได้แก่ การให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้
เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ
 ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพหรือจัดให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์  ซึ่งมีพระราชบัญญัติและระเบียบที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.1  พระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ. 2559  มาตรา 29  เป็นกรณีที่พนักงานคุมประพฤติจัดให้ผู้ถูกคุม
ความประพฤติทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามคำสั่งศาลหรือ เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ ต้องพิจารณา ข้อมูลคดี ข้อมูลส่วนบุคคลประกอบด้วย
 อีกทั้งงานที่จัดให้ทำจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนาตลอดจนปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง

1.2  ระเบียบกรมคุมประพฤติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ พ.ศ. 2560   เพื่อรองรับการดำเนินงานของพนักงานคุมประพฤติในการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามพระราชบัญญัติ
คุมประพฤติ พ.ศ. 2559  มาตรา 29
 

        2. การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25)  .. 2559 มาตรา 30/1  เป็นมาตรการลงโทษทางเลือก ให้กับผู้ต้องโทษปรับที่ไม่ใช่นิติบุคคลและไม่มีเงินชำระค่าปรับ ซึ่งโดยปกติหากไม่มีเงินชำระค่าปรับจะต้องถูกนำตัวไปกักขังแทนค่าปรับ แต่มาตรานี้ให้สิทธิผู้ไม่มีเงินชำระค่าปรับสามารถยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีเพื่อขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับได้

                   ดังนั้นเป้าหมายของการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ จึงเป็นการที่ให้ผู้กระทำผิดที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ โดยคำนึงถึงระยะเวลาและประเภทงานตามคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด แตกต่างกับการทำงานบริการสังคมตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25)  .. 2559 (มาตรา 56) ชึ่งเป็นเรื่องการทำงานบริการสังคมโดยเป็นเงื่อนไขในการคุมความประพฤติ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู และการชดเชยความผิดแก่ผู้เสียหายและสังคม 

        3. การทำงานบริการสังคมตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545  มาตรา 23 (4) 
 เป็นกรณีที่ใช้การทำงานบริการสังคมเป็นวิธีการหนึ่งในการจัดทำแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ร่วมกับการดำเนินการอื่นที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดำรงชีวิตห่างไกลจากยาเสพติด

หน่วยงานภาคีกับการทำงานบริการสังคม

                 “หน่วยงานภาคี หมายถึง หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน เอกชน หรือองค์กรอื่น ที่มีข้อตกลงร่วมกันกับสำนักงานคุมประพฤติให้เป็นหน่วยงานที่จัดให้    ผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มีความสำคัญต่อกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ที่จะช่วยให้ผู้กระทำผิดได้ทำงานชดใช้ตอบแทนสังคม เกิดจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นคนดีของสังคมได้ต่อไป หน่วยงานต่างๆ สามารถติดต่อขอข้อมูลการเข้าร่วมเป็นหน่วยงานภาคีได้จากสำนักงานคุมประพฤติในพื้นที่นั้น 

ผู้บริหาร

 นายพิพัฒน์ ว่องธีรกิจโกศล
ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต

 

    มี 113 ผู้มาเยือน และ ออนไลน์

  ผู้เยี่ยมชมวันนี้ 1
  ผู้เยี่ยมชมเมื่อวานนี้ 22
  ผู้เยี่ยมชมสัปดาห์นี้ 1
  ผู้เยี่ยมชมเดือนนี้ 23
  ยอดผู้เยี่ยมชม 41398