งานอาสาสมัครคุมประพฤติ

ที่มาของงานอาสาสมัครคุมประพฤติ

        กรมคุมประพฤติมีภารกิจในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคม และได้เริ่มดำเนินโครงการอาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ จากแนวคิดเกี่ยวกับสังคมควรมีระบบและกลไกในการป้องกันตนเองจากปัญหาอาชญากรรมและการกระทำผิดซ้ำนอกเหนือไปจากระบบงานยุติธรรมทางอาญา ซึ่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ได้ผลดี คือ การให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากอาชญากรรม และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผู้กระทำผิดในชุมชน ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ตลอดจนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดพ.ศ.๒๕๔๕ ทำให้ภารกิจของกรมคุมประพฤติกระทรวงยุติธรรมมีมากขึ้น เพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนและทำให้การดำเนินงานอาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนสามารถรองรับภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้เกิดประสิทธิภาพ จึงมีระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยอาสาสมัครคุมประพฤติ พ.ศ. ๒๕๔๗ อาสาสมัครคุมประพฤติมีหน้าที่ในการช่วยเหลือพนักงานคุมประพฤติในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้คำแนะนำตักเตือนให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดออกสอดส่องเยี่ยมผู้ถูกคุมความประพฤติติดตามผลผู้ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕

          ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙ กำหนดให้อาสาสมัครคุมประพฤติมีบทบาทตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยบทบาทและวิธีการปฏิบัติงานของอาสาสมัครคุมประพฤติและบทบาทของภาคประชาชน พ.ศ. ๒๕๖๐ และมีคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนอาสาสมัครคุมประพฤติ ตามระเบียบคณะกรรมการคุมประพฤติว่าด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนอาสาสมัครคุมประพฤติ พ.ศ. ๒๕๖๑  

อาสาสมัครคุมประพฤติมีความสำคัญอย่างไร

            ผู้กระทำผิดต้องการกำลังใจ การยอมรับและให้โอกาสของคนในชุมชน รวมทั้งมีอาชีพมีรายได้เพื่อดำเนินชีวิต อาสาสมัครคุมประพฤติถือเป็นบุคคลในชุมชนที่ใกล้ชิดผู้กระทำความผิดมากที่สุด ในการออกไปเยี่ยมเยียน ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ ให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิต รวมทั้งการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

       ดังนั้น อาสาสมัครคุมประพฤติ จึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยให้ผู้กระทำผิดสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่หวนกลับไปกระทำผิดอีก

 

บทบาทของอาสาสมัครคุมประพฤติ

ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยบทบาทและวิธีการปฏิบัติงานของอาสาสมัครคุมประพฤติและ

บทบาทของภาคประชาชน พ.ศ. ๒๕๖๐ ลักษณะ ๑ บทบาทและวิธีการปฏิบัติงานของอาสาสมัครคุมประพฤติ

หมวด ๑ บทบาทของอาสาสมัครคุมประพฤติ ข้อ ๖

อาสาสมัครคุมประพฤติมีบทบาทในการช่วยเหลือพนักงานคุมประพฤติ ดังนี้

(๑) แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด

(๒) ติดตาม ดูแลช่วยเหลือ สงเคราะห์ ผู้กระทำผิดหรือผู้ได้รับการสงเคราะห์

(๓) แสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้กระทำผิด

(๔) ส่งเสริมสนับสนุนภารกิจของกรมคุมประพฤติ

(๕) มีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม

(๖) บทบาทหน้าที่อื่นตามที่อธิบดีกรมคุมประพฤติมอบหมาย

ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม (๑) – (๖) ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานคุมประพฤติ

คุณสมบัติของอาสาสมัครคุมประพฤติ 

ตามระเบียบคณะกรรมการคุมประพฤติว่าด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนอาสาสมัครคุมประพฤติ พ.ศ. ๒๕๖๑

หมวด ๑ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งอาสาสมัครคุมประพฤติ อาสาสมัครคุมประพฤติต้องมี

คุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีอายุตั้งแต่ยี่สิบเอ็ดปีบริบูรณ์ขึ้นไป

(๒) สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือเป็นผู้มีความรู้

หรือประสบการณ์ไม่น้อยกว่าสองปี ในด้านการแก้ไขฟื้นฟู ด้านการสงเคราะห์ ด้านการพัฒนา

สังคมหรือชุมชน  ด้านการพัฒนาพฤตินิสัย หรือด้านกระบวนการยุติธรรม หรือเป็นที่ยอมรับ

จากประชาชน ชุมชน หรือสังคม

(๓) ประกอบอาชีพโดยสุจริตหรือดำรงชีพโดยสุจริต

(๔) มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอน

(๕) มีความประพฤติดี ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมและมีความเสียสละเป็นอย่างสูงพร้อม

ที่จะอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานคุมประพฤติด้วยความเต็มใจ

(๖) สุขภาพร่างกายหรือจิตใจไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน

(๗) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คนไร้ความสามารถหรือ

เสมือนไร้ความสามารถ 

การสิ้นสุดสถานภาพของอาสาสมัครคุมประพฤติ ตามระเบียบคณะกรรมการคุมประพฤติว่าด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนอาสาสมัครคุมประพฤติ พ.ศ. ๒๕๖๑ หมวด ๓ การสิ้นสุดสถานภาพและการถอดถอนอาสาสมัครคุมประพฤติ 

ข้อ ๑๐  อาสาสมัครคุมประพฤติมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละหกปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ ให้มีการประเมินอาสาสมัครคุมประพฤติทุกสองปี ตามแบบที่กรมคุมประพฤติกำหนด โดยผู้ผ่านการประเมินจะต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี ประสงค์ที่จะปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครคุมประพฤติและปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย 

ข้อ ๑๑ อาสาสมัครคุมประพฤติสิ้นสุดสถานภาพลง ในกรณีดังต่อไปนี้

                   (๑) ครบกำหนดวาระ

                   (๒) ตาย

                   (๓) ลาออก

                   (๔) ถูกถอดถอน

ผู้บริหาร

 นายพิพัฒน์ ว่องธีรกิจโกศล
ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต

 

    มี 303 ผู้มาเยือน และ ออนไลน์

  ผู้เยี่ยมชมวันนี้ 5
  ผู้เยี่ยมชมเมื่อวานนี้ 41
  ผู้เยี่ยมชมสัปดาห์นี้ 179
  ผู้เยี่ยมชมเดือนนี้ 1336
  ยอดผู้เยี่ยมชม 31012