การคุมความประพฤติ
การคุมความประพฤติหรือการควบคุมและสอดส่อง (Supervision) เป็นวิวัฒนาการของการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในแนวทฤษฏีการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู ซึ่งเชื่อว่า พฤติกรรมการกระทำผิดของมนุษย์ เป็นผลมาจากเหตุปัจจัยต่างๆทั้งด้านชีวภาพและสภาพแวดล้อม ดังนั้น การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตน เป็นพลเมืองดี จึงจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทางสังคมที่จะส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งด้วยกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการทางพฤติกรรมศาสตร์
ความหมายของการคุมความประพฤติ
การควบคุมและสอดส่อง เป็นรูปแบบและวิธีการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดที่ให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดในการปรับปรุงแก้ไขตนเองในชุมชน โดยไม่ต้องถูกควบคุมตัวไว้ แต่กำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติไว้ ให้ผู้กระทำผิดปฏิบัติ และมีพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมดูแลและสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำผิดตามระดับความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำและสภาพปัญหาและความต้องการของผู้กระทำผิดแต่ละราย เพื่อให้ผู้กระทำผิดไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำขึ้นใหม่ ตลอดจนได้รับการปรับเปลี่ยนพฤตินิสัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข
วัตถุประสงค์การคุมความประพฤติ
๑. เพื่อให้โอกาสผู้กระทำผิดได้ปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เป็นพลเมืองดี โดยไม่ต้องถูกควบคุมตัว
๒. เพื่อควบคุมพฤติกรรมและตัดโอกาสในการกระทำผิดซ้ำ ด้วยการควบคุมดูแลตามระดับความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำและสงเคราะห์ช่วยเหลือตามความรุนแรงของสภาพปัญหาและความต้องการของผู้กระทำผิด แต่ละราย ให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยและพัฒนาคุณภาพชีวิต
๓. เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพของสังคมและปกป้องชุมชนสังคมให้ปลอดพ้นจากอาชญากรรม
ประโยชน์ของการคุมความประพฤติ
๑. การคุมความประพฤติผู้กระทำผิด สามารถแก้ไขฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยของผู้กระทำผิด เพื่อให้ผู้กระทำผิดกลับตนเป็นพลเมืองดีและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติ
๒. ผู้กระทำผิดได้รับโอกาสให้ปรับปรุงแก้ไขตนเองด้วยมาตรการแก้ไขฟื้นฟูในชุมชน โดยไม่ต้องถูกควบคุมตัว
๓. การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคล มีผลดีต่อผู้กระทำผิดมากกว่าการจำคุก เนื่องจากผู้กระทำผิดจะไม่ได้รับผลกระทบจากการตีตรา และหลีกเหลี่ยงการเรียนรู้ประสบการณ์อาชญากรรมจากเรือนจำ
๔. เป็นวิธีการส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดยังคงมีความสัมพันธ์กับครอบครัว สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้
๕. ลดการกระทำผิดซ้ำของผู้กระทำผิด
๖. ป้องกันสังคมจากอาชญากรรม
๗. ประหยัดค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดด้วยระบบควบคุมตัว เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการควบคุมในสถานควบคุมสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการคุมความประพฤติ
๘. บรรเทาความแออัดในเรือนจำ
ปัจจุบันการดำเนินงานคุมความประพฤติในความรับผิดชอบโดยตรงของกรมคุมประพฤติ แบ่งออกตามกลุ่มผู้กระทำผิดได้เป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้
๑. การคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่
๒. การคุมความประพฤติผู้ได้รับการพักโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก
๓. การคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กหรือเยาวชน
- การคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่
หมายถึง การคุมความประพฤติ ผู้กระทำผิดที่มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันที่การกระทำผิดได้เกิดขึ้น
๑.๑ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ ประกอบด้วยกฎหมายสำคัญๆ ดังต่อไปนี้
- ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖-๕๘ มาตรา ๗๔-๗๕
- พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๖
- พระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙
๑.๒ ผู้มีอำนาจสั่งคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่
ผู้มีอำนาจสั่งให้ดำเนินการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ คือ ศาล ตามพระราชบัญญัติ คุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙
ศาล หมายถึง ศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา แต่ไม่รวมถึงศาลเยาวชนและครอบครัว เว้นแต่ในคดีอาญาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งผู้กระทำความผิด มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในวันที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้น
๑.๓ เงื่อนไขการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่
ในกรณีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ วรรคสอง ดังนี้
(๑.) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถามแนะนำช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่เจ้าพนักงานและผู้กระทำความผิดเห็นสมควร
(๒.) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(๓.) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
(๔.) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(๕.) เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก
ในการกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤตินี้ เป็นดุลพินิจของศาล ศาลอาจวางเงื่อนไขทุกข้อหรือบางข้อก็ได้ ในกรณีที่พฤติการณ์เกี่ยวกับการคุมความประพฤติได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อศาลเห็นสมควรอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อใดข้อหนึ่งเสียก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขข้อใดที่ศาลยังมิได้กำหนดไว้เพิ่มเติมก็ได้
๑.๔ ระยะเวลาในการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่
ศาลจะพิพากษาในคุมความประพฤติแก้จำเลยรายใดไว้ภายในระยะเวลาเพียงใดขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล แต่ต้องไม่เกิน ๕ ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ วรรคแรก
๑.๕ กระบวนการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่
ในการปฏิบัติงานควบคุมและสอดส่องมีกระบวนการ ๖ ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ การรับคดี เป็นขั้นตอนเมื่อสำนักงานคุมประพฤติได้รับหนังสือแจ้งคำพิพากษา/คำสั่งจากศาล หรือหนังสือแจ้งการปล่อยคุมความประพฤติจากเรือนจำ / ทัณฑสถาน เจ้าหน้าที่ธุรการคดีจะลงทะเบียนรับคดีเข้าสู่ระบบกลาง รวบรวมเอกสารจัดตั้งสำนวนคดีแล้วมอบให้หัวหน้ากลุ่มงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะพิจารณาจ่ายคดีให้พนักงานคุมประพฤติ
ขั้นตอนที่ ๒ การชี้แจงเงื่อนไขการคุมความประพฤติและรวบรวมข้อมูล เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของพนักงานคุมประพฤติ เมื่อผู้ถูกคุมความประพฤติมาพบพนักงานคุมประพฤติหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา / คำสั่งให้คุมความประพฤติ พนักงานคุมประพฤติจะดำเนินการปฐมนิเทศชี้แจงให้ผู้ถูกคุมความประพฤติเข้าใจในคำพิพากษา / คำสั่งและเงื่อนไขการคุมความประพฤติ ตลอดจนรวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ถูกคุมความประพฤติและจัดทำกำหนดนัดรายงานตัว
ขั้นตอนที่ ๓ วิเคราะห์และวางแผน เป็นขั้นตอนที่พนักงานคุมประพฤติเจ้าของสำนวนจะนำข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับประวัติภูมิหลังของผู้ถูกคุมความประพฤติ ตลอดจนสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีมาวิเคราะห์และประเมินและวางแผนแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติ โดยการใช้เกณฑ์ความเสี่ยงหรือแนวโน้มการกระทำผิดซ้ำและเกณฑ์สภาพปัญหาและความต้องการในการจำแนกผู้กระทำผิด
ขั้นตอนที่ ๔ ควบคุมและสอดส่องตามเงื่อนไข / แก้ไขฟื้นฟูตามสภาพปัญหา เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของพนักงานคุมประพฤติ เพื่อควบคุมดูแลและสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้กระทำผิดตามระดับความเสี่ยงหรือแนวโน้มต่อการกระทำผิดซ้ำและระดับความรุนแรงของสภาพปัญหาและความต้องการของผู้กระทำผิด เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติและได้รับการแก้ไขฟื้นฟูให้ปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยกลับตนเป็นพลเมืองดี และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำขึ้นอีก
ขั้นตอนที่ ๕ ประเมินสรุปผลเป็นขั้นตอนที่พนักงานคุมประพฤติจะต้องตรวจสอบผลการดำเนินงานในแต่ละสำนวน โดยพนักงานคุมประพฤติจะต้องทบทวนแผนการดำเนินงาน และการประเมินความเสี่ยงและสภาพปัญหาและความต้องการซ้ำตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูหรือแผนการคุมความประพฤติที่กำหนดไว้มีการดำเนินการตามแผน เพื่อปรับแผนการคุมประพฤติให้มีประสิทธิภาพในการแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติ
ขั้นตอนที่ ๖ จัดทำรายงานการคุมความประพฤติ เป็นขั้นตอนของพนักงานคุมประพฤติในการตรวจสอบสำนวนและประมวลข้อมูลในการคุมความประพฤติผู้ถูกคุมความประพฤติที่ดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งในกรณีที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ มาจัดทำเป็นรายงานการคุมความประพฤติเพื่อเสนอต่อศาลหรือกรมราชทัณฑ์
๒. การคุมความประพฤติผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก
การพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก เป็นมาตรการที่กรมราชทัณฑ์นำมาใช้ในการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดีและอยู่ในระเบียบวินัย มีความอุตสาหะ ตั้งใจศึกษาอบรม ขยันฝึกวิชาชีพและทำความชอบแก่ราชการ ได้ออกไปสู่ครอบครัวและชุมชนก่อนครบกำหนดโทษ ภายใต้เงื่อนไขการคุมประพฤติ
๒.๑ ประเภทของการคุมความประพฤติผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
- การพักการลงโทษ (Parole) หมายถึง การปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดออกมาอยู่นอกเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ และจะพึงกระทำได้เมื่อนักโทษเด็ดขาดนั้นได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้น ให้กำหนดไม่น้อยกว่า ๑ ปี แต่ไม่เกินกำหนดโทษที่ยังเหลืออยู่
- การลดวันต้องโทษ (Good-Time Allowance) หมายถึง การประโยชน์ลดวันต้องโทษจำคุกแก่นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดีในระหว่างต้องโทษในเรือนจำ ซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือไม่น้อยกว่าสิบปี ในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดระยะเวลา ซึ่งนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก ต้องเป็นนักโทษชั้นดีขึ้นไปเท่านั้น
๒.๒ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก ประกอบด้วยกฎหมาย ดังต่อไปนี้
- พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.๒๕๖๐
๒.๓ ผู้มีอำนาจสั่งพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก
กรณีพักการลงโทษ คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ จะพิจารณาการพักการลงโทษได้ต่อเมื่อคณะกรรมการต่อไปนี้เห็นชอบ และได้รับการอนุมัติจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์
๑. คณะกรรมการในส่วนกลาง ประกอบด้วย
- ปลัดกระทรวงยุติธรรม (เดิมเป็น ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ประธานกรรมการ
- ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กรรมการ
- ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรรมการ
- ผู้แทนกรมการปกครอง กรรมการ
- ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด กรรมการ
- ผู้แทนกรมคุมประพฤติ กรรมการ (เพิ่ม)
๒. คณะกรรมการสำหรับเรือนจำกลาง ประกอบด้วย
-ข้าราชการชั้นหัวหน้าแผนกที่อธิบดี ตั้งขึ้นไม่น้อยกว่า ๓ นาย
๓. คณะกรรมการสำหรับเรือนจำภูมิภาค ประกอบด้วย
- ผู้บัญชาการเรือนจำ ประธาน
- ข้าราชการประจำแผนกขึ้นไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งขึ้น ๒ นาย
๔. กรณีมีเหตุพิเศษ จะพักการลงโทษมากกว่าที่กำหนดก็ได้ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติ โดยคณะกรรมการ ประกอบด้วย (ขณะนี้อยู่ในระหว่างปรับเปลี่ยนคณะกรรการใหม่ให้สอดคล้องกับสังกัด)
- ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการ
- ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ กรรมการ
- ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรรมการ
- ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กรรมการ
- ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด กรรมการ
๕. กรณีกรมราชทัณฑ์มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในการอนุมัติการพักการลงโทษให้แก่นักโทษเด็ดขาด เฉพาะรายที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์พักการลงโทษตามกฎหมายและเหลือโทษจำคุกต่อไปไม่เกิน ๑ เดือน และจะปล่อยตัวคุมประพฤติอยู่ภายในพื้นที่ของจังหวัดนั้น
เกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษ
คณะกรรมการ มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้นักโทษได้รับการพักการลงโทษ ดังนี้
๑. พฤติการณ์ในระหว่างคุมขังอยู่ในเรือนจำ คือ
- ความอุตสาหะ
- ความก้าวหน้าทางการศึกษา
- การทำงานหรือทำความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษ
- ความประพฤติขณะต้องโทษ
๒. พฤติกรรมก่อนต้องโทษจำคุก
- ประวัติครอบครัว
- อาชีพ
- ข้อเท็จจริงในการกระทำความผิด (สาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น)
๓. ผู้อุปการะและที่อยู่อาศัย โดยจะพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ฐานะ อาชีพ ตลอดจนสภาพแวดล้อม และที่อยู่อาศัย
ระยะเวลาที่นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการพักการลงโทษ
๑. ชั้นเยี่ยม ไม่เกิน ๑ ใน ๓ ของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด ในกรณีที่มีการพระราชทานอภัยโทษ ให้ถือกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดฉบับหลังสุด
๒. ชั้นดีมาก ไม่เกิน ๑ ใน ๔ ของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด ในกรณีที่มีการพระราชทานอภัยโทษ ให้ถือกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดฉบับหลังสุด
๓. ชั้นดี ไม่เกิน ๑ ใน ๕ ของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด ในกรณีที่มีการพระราชทานอภัยโทษ ให้ถือกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดฉบับหลังสุด
กรณีการลดวันต้องโทษจำคุก
คณะกรรมการพิจารณาการลดวันต้องโทษจำคุก
เมื่อกรมราชทัณฑ์เห็นสมควรลดวันต้องโทษจำคุกให้แก่นักโทษเด็ดขาดรายใด จะต้องเสนอคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาโดยมีมติเสียงส่วนมาก ซึ่งประกอบด้วย
- ผู้แทนจากกรมราชทัณฑ์
- ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด
- ผู้แทนจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
- จิตแพทย์จากกรมการแพทย์
เกณฑ์การพิจารณาการลดวันต้องโทษจำคุก
๑. นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกให้เดือนละไม่เกิน ๕ วัน แต่การลดวันต้องโทษจำคุกจะพึงกระทำได้เมื่อนักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ เดือน หรือไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา
๒. นักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกมาแล้ว ไม่น้อยกว่า ๖ เดือน นับตั้งแต่วันต้องจำคุกจนถึงวันที่วันที่เข้าหลักเกณฑ์ คือ จำคุกมาแล้ว ๑๘๐ วัน และเป็นชั้นดีขึ้นไป ทั้งนี้ให้รวมวันหักขังเข้าด้วย และเริ่มเดือนที่ ๗ จึงจะได้รับประโยชน์จากการลดวันต้องโทษจำคุก ตามชั้นที่ได้รับอยู่คือ ตั้งแต่ชั้นดีขึ้นไป แต่ถ้านักโทษเด็ดขาดยังอยู่ในชั้นกลาง-เลว-เลวมาก ก็ยังไม่ได้รับประโยชน์ ให้รอจนกว่าจะสะสมความดีเข้าหลักเกณฑ์
๓. นักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกมาในกรณีต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดระยะเวลา ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี จึงจะเริ่มได้รับผลประโยชน์จากการลดวันต้องโทษจำคุกตามชั้นที่มีอยู่ตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ โดยได้รับผลประโยชน์ตั้งแต่เดือนที่ ๑ ของปีที่ ๑๑ ที่ต้องโทษมา
นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกตามชั้นและตามจำนวนวัน ดังต่อไปนี้
๑. ชั้นเยี่ยม เดือนละ ๕ วัน
๒. ชั้นดีมาก เดือนละ ๔ วัน
๓. ชั้นดี เดือนละ ๓ วัน
๒.๔ เงื่อนไขการคุมความประพฤติของผู้ได้รับพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก
ซึ่งเงื่อนไขที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงออก ตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยต้องปฏิบัติตามจนครบกำหนดระยะเวลาพ้นโทษ ดังนี้
(๑) ต้องไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติที่สำนักงานคุมประพฤติภายใน ๓ วัน นับแต่ได้รับการปล่อยตัวและต่อไปให้ไปรายงานตัวพนักงานคุมประพฤติ ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนดจนกว่าจะพ้นโทษ
(๒) ต้องพักอาศัยอยู่กับผู้อุปการะตามบ้านเลขที่ที่แจ้งไว้และห้ามออกนอกเขตท้องที่จังหวัด เว้นแต่เพื่อกิจธุระสำคัญและต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานคุมประพฤติก่อน
(๓) ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ หากฝ่าฝืนและถูกลงโทษโดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับนั้น ต้องแจ้งให้พนักงานคุมประพฤติทราบทุกครั้ง
(๔) ให้ประกอบอาชีพสุจริต หากเปลี่ยนเป็นสถานที่ทำงานหรือย้ายงานใหม่ ต้องแจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบทุกครั้ง
(๕) ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำตักเตือนของพนักงานคุมประพฤติและเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู ตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมคุมประพฤติกำหนด
(๖) ห้ามประพฤติในตนในทางเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน เสพยาเสพติดและกระทำความผิดขึ้นอีก
(๗) ห้ามเกี่ยวข้องกับสารระเหย วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตหรือประสาท หรือยาเสพติดให้โทษทุกประเภท รวมทั้งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนหรือวัตถุระเบิดทุกชนิด
(๘) ห้ามเยี่ยมเยียนและติดต่อกับนักโทษที่ไม่ใช่ญาติ ซึ่งกำลังต้องโทษอยู่
(๙) ต้องแสดงหนังสือสำคัญการปล่อยตัวต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าพนักงานเรือนจำ เมื่อมีการเรียกให้แสดง และหากหนังสือสำคัญการปล่อยตัวสูญหายให้รับแจ้งต่อพนักงานคุมประพฤติ
๒.๕ ระยะเวลาของการคุมความประพฤติผู้ได้รับพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก
ระยะเวลาของการคุมประพฤติผู้ได้รับพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุกนั้น นับตั้งแต่วันที่ได้รับการปล่อยคุมประพฤติจนถึงวันพ้นโทษของผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุกแต่ละราย ซึ่งได้ระบุไว้ในหนังสือสำคัญปล่อยตัวคุมประพฤติ
๒.๖ กระบวนการคุมความประพฤติผู้ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษ
กระบวนการคุมความประพฤติผู้ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษประกอบด้วย ๖ ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ ๑ การรับคดี เป็นขั้นตอนเมื่อสำนักงานคุมประพฤติได้รับหนังสือแจ้งการปล่อยคุมความประพฤติจากเรือนจำ / ทัณฑสถาน เจ้าหน้าที่ธุรการคดีจะลงทะเบียนรับคดีเข้าสู่ระบบกลาง รวบรวมเอกสารจัดตั้งสำนวนคดีโดยใช้สำนวนสืบเสาะฯของคดีนั้นเป็นสำนวนคดีสอดส่องต่อเนื่องกัน แล้วมอบให้หัวหน้ากลุ่มงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะพิจารณาจ่ายคดีให้พนักงานคุมประพฤติ
ขั้นตอนที่ ๒ การชี้แจงเงื่อนไขการคุมความประพฤติและรวบรวมข้อมูล เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของพนักงานคุมประพฤติ เมื่อผู้ถูกคุมความประพฤติมาพบพนักงานคุมประพฤติตามหนังสือแจ้งการปล่อยคุมความประพฤติจากเรือนจำ/ทัณฑสถาน พนักงานคุมประพฤติจะดำเนินการปฐมนิเทศชี้แจงให้ผู้ถูกคุมความประพฤติเข้าใจในคำสั่งและเงื่อนไขการคุมความประพฤติ ตลอดจนรวบรวมหลักฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ถูกคุมความประพฤติและจัดทำกำหนดนัดรายงานตัว
ขั้นตอนที่ ๓ วิเคราะห์และวางแผน เป็นขั้นตอนที่พนักงานคุมประพฤติเจ้าของสำนวนจะนำข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับประวัติภูมิหลังของผู้ถูกคุมความประพฤติ ตลอดจนสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีมาวิเคราะห์และประเมินและวางแผนแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติ โดยการใช้เกณฑ์ความเสี่ยงหรือแนวโน้มการกระทำผิดซ้ำและเกณฑ์สภาพปัญหาและความต้องการในการจำแนกผู้กระทำผิด
ขั้นตอนที่ ๔ ควบคุมและสอดส่องตามเงื่อนไข / แก้ไขฟื้นฟูตามสภาพปัญหา เป็นขั้นตอนการดำเนินงานของพนักงานคุมประพฤติ เพื่อควบคุมดูแลและสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้กระทำผิดตามระดับความเสี่ยงหรือแนวโน้มต่อการกระทำผิดซ้ำและระดับความรุนแรงของสภาพปัญหาและความต้องการของผู้กระทำผิด เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติและได้รับการแก้ไขฟื้นฟูให้ปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยกลับตนเป็นพลเมืองดี และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำขึ้นอีก
ขั้นตอนที่ ๕ ประเมินสรุปผลเป็นขั้นตอนที่พนักงานคุมประพฤติจะต้องตรวจสอบผลการดำเนินงานในแต่ละสำนวน โดยพนักงานคุมประพฤติจะต้องทบทวนแผนการดำเนินงาน และการประเมินความเสี่ยงและสภาพปัญหาและความต้องการซ้ำตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูหรือแผนการคุมความประพฤติที่กำหนดไว้มีการดำเนินการตามแผน เพื่อปรับแผนการคุมประพฤติให้มีประสิทธิภาพในการแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติ
ขั้นตอนที่ ๖ จัดทำรายงานการคุมความประพฤติ เป็นขั้นตอนของพนักงานคุมประพฤติในการตรวจสอบสำนวนและประมวลข้อมูลในการคุมความประพฤติผู้ถูกคุมความประพฤติที่ดำเนินการเสร็จสิ้นทั้งในกรณีที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติและไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ มาจัดทำเป็นรายงานการคุมความประพฤติเพื่อเสนอตต่อกรมราชทัณฑ์
การคุมประพฤติเด็กและเยาวชน
การคุมประพฤติเด็กและเยาวชนในประเทศไทย เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยได้มีการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง) และสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง (ปัจจุบันยกฐานะเป็นกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด รวมทั้งการคุมประพฤติเด็กและเยาวชนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ หลังจากนั้นจึงมีการขยายการดำเนินงานในลักษณะเดียวกันไปสู่ภูมิภาคครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
ต่อมา เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเกี่ยวกับแนวทางรูปแบบการลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุมประพฤติ โดยกำหนดให้กรมคุมประพฤติเป็นหน่วยงานหลักในการคุมความประพฤติผู้กระทำผิดทั้งในชั้นก่อน ระหว่างและหลังการพิจารณาคดีของศาล ทั้งกับผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่ และภายหลังจึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ และพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่กำหนดให้โอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ ตลอดจนส่วนประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานการคุมประพฤติเด็กและเยาวชน ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้เป็นภารกิจและอำนาจหน้าที่ของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๕ เป็นต้นมา จากกรณีดังกล่าวจึงมีผลให้ กรมคุมประพฤติต้องรับโอนภารกิจการคุมประพฤติเด็กและเยาวชนจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมาดำเนินการ เฉพาะการดำเนินงานในขั้นตอนของการควบคุมและสอดส่อง ส่วนการดำเนินงานในขั้นตอนของการสืบเสาะและพินิจยังคงเป็นภารกิจ ในความรับผิดชอบของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเช่นเดิม ทั้งนี้โดยได้มีการส่ง-รับมอบงานคุมความประพฤติเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖
ปัจจุบันการคุมประพฤติเด็กและเยาวชน เฉพาะในส่วนของการคุมความประพฤติหรือการควบคุม และสอดส่อง จึงเป็นภารกิจในความรับผิดชอบดำเนินการของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม โดยมีพนักงาน คุมประพฤติในสังกัดสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด/ประจำศาล ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น ๑๐๗ สำนักงาน เป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุมและสอดส่องผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนดังกล่าว
ความหมาย
การคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน คือ กระบวนการติดตาม ควบคุมดูแล ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนในชุมชน ซึ่งถูกกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติ โดยมีพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ควบคุมดูแล แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนในเรื่องความประพฤติ การศึกษา การประกอบอาชีพ หรือเรื่องอื่นๆ ด้วยวิธีการแก้ไขฟื้นฟูตามความเหมาะสม เพื่อให้ผู้กระทำผิดปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ สามารถปรับตัวอยู่กับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข
วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ของการคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน มีดังนี้
๑. เพื่อแก้ไขฟื้นฟูเด็กและเยาวชนตามสภาพปัญหาและความต้องการ
๒. เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้สามารถดำเนินชีวิตและปรับตัวเข้ากับสังคมได้โดยไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ
๓. เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพและความปลอดภัยของชุมชน
ประเภทของการคุมประพฤติเด็กและเยาวชน
การคุมประพฤติเด็กและเยาวชนจะเริ่มขึ้นหลังจากศาลเยาวชนและครอบครัวมีคำสั่งให้พนักงาน คุมประพฤติคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน โดยแบ่งได้เป็น 2ประเภท คือ การคุมความประพฤติก่อนและหลังศาลมีคำพิพากษา
๑. การคุมความประพฤติก่อนศาลมีคำพิพากษา
การคุมความประพฤติก่อนศาลมีคำพิพากษา หมายถึง การที่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนสั่งใช้การคุมประพฤติเด็กและเยาวชนตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและ วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๓๒ ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลเห็นว่าตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรจะมีคำพิพากษาหรือบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กและเยาวชนอาศัยอยู่ด้วยร้องขอ เมื่อศาลสอบถามผู้เสียหายแล้ว ศาลอาจมีคำสั่งให้ปล่อยตัวเด็กและเยาวชนชั่วคราวแล้วมอบตัวเด็กและเยาวชนนั้นให้บุคคลดังกล่าวโดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้ โดยกำหนดเงื่อนไขหรือให้ใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย อันได้แก่ การเปลี่ยนโทษปรับเป็นการคุมความประพฤติ ซึ่งศาลจะกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติข้อเดียวหรือหลายข้อไว้ด้วยก็ได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๒(๒) ประกอบกับรายละเอียดของเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติที่ศาลจะกำหนดได้ ๑-๘ ข้อ ระยะเวลาการคุมความประพฤติที่ศาลจะกำหนดเงื่อนไขให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติที่จะต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นจะมีอายุครบ ๒๔ ปีบริบูรณ์ และการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเพิกถอน หรือเพิ่มเติมเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ เมื่อความปรากฏแก่ศาลเองหรือปรากฏจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานสังคมสงเคราะห์ว่า ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนนั้นเปลี่ยนแปลงไป ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๘ ประกอบกับการกำหนดให้พนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานสังคมสงเคราะห์เป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการคุมประพฤติเด็กหรือเยาวชน และถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อการคุมความประพฤติที่ศาลกำหนด ศาลจะสั่งให้เด็กหรือเยาวชนไปรับการอบรมในสถานพินิจเป็นเวลาไม่เกินกว่า ๑ ปี แต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้น มีอายุ ๒๔ ปีบริบูรณ์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๙
ทั้งนี้ โดยที่การสั่งใช้วิธีการคุมความประพฤติตามมาตรา ๑๓๒ นี้ จะมีลักษณะเป็นเพียงคำสั่งชั่วคราว เพื่อเป็นประโยชน์ให้ศาลได้รับทราบข้อมูลภูมิหลังของเด็กหรือเยาวชน หรือพฤติการณ์ของเด็กหรือเยาวชนในระหว่างที่ให้คุมความประพฤติไว้นี้ว่าเป็นผลดีหรือไม่เพียงใด เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการใช้ดุลพินิจในการพิพากษาคดีให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขฟื้นฟูเด็กหรือเยาวชนรายนั้นๆ ได้เหมาะสมยิ่งขึ้นในภายหลัง
การคุมความประพฤติในขั้นตอนนี้จึงเป็นการสั่งใช้มาตรการคุมประพฤติก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งมีนัยที่เป็นไปเพื่อแก้ไขฟื้นฟูนิสัยความประพฤติของเด็กและเยาวชนโดยยังไม่ต้องมีคำพิพากษาเด็กและเยาวชนก่อนแต่อย่างใด การคุมความประพฤติเด็กและเยาวชนในกรณีนี้จึงเป็นไปเพื่อให้โอกาสเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ที่จะปรับปรุงแก้ไขตนเองและป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนหวนกลับไปมีพฤตินิสัยในทางที่เสียหายหรือกระทำผิดกฎหมายซ้ำขึ้นใหม่อีกต่อไป
การดำเนินการคุมความประพฤติเด็กและเยาวชนในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้คุมความประพฤติก่อนมีคำพิพากษา โดยทั่วไปให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับการคุมความประพฤติเด็กและเยาวชนหลังมีคำพิพากษา
๒. การคุมความประพฤติหลังศาลมีคำพิพากษา
การคุมความประพฤติหลังศาลมีคำพิพากษา หมายถึง การที่ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนสั่งใช้การคุมความประพฤติเด็กและเยาวชนภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนไม่มีความผิดและกรณีที่เด็กหรือเยาวชนมีความผิด ดังนี้
๒.๑ กรณีที่เด็กหรือเยาวชนไม่มีความผิดเป็นกรณีที่ศาลปล่อยเด็กหรือเยาวชนไปเพราะไม่มีความผิด แต่เด็กหรือเยาวชนนั้นมีความประพฤติเสียหาย ไม่เหมาะสม ดังนั้นเพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชนนั้น ศาลก็อาจปล่อยตัวไปโดยวางเงื่อนไขคุมประพฤติไว้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๓๘ ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าเด็กหรือเยาวชนซึ่งเป็นจำเลยไม่มีความผิดและปล่อยเด็กหรือเยาวชนไป ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับความประพฤติของเด็กหรือเยาวชนนั้นด้วย ให้ศาลมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติข้อเดียวหรือหลายข้อไว้ในคำพิพากษา พร้อมทั้งได้บัญญัติรายละเอียดของเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ ระยะเวลาการคุมความประพฤติที่ศาลจะกำหนดเงื่อนไขให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติ จะต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นจะมีอายุครบ ๒๔ ปีบริบูรณ์ และการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเพิกถอน หรือเพิ่มเติมเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ เมื่อความปรากฏแก่ศาลเองหรือปรากฏจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานสังคมสงเคราะห์ว่า ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนนั้นเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการกำหนดให้พนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานสังคมสงเคราะห์เป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชน และถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อการคุมความประพฤติที่ศาลกำหนด ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกหรือหมายจับเด็กหรือเยาวชนนั้นมาตักเตือน หรือสั่งให้เด็กหรือเยาวชนไปรับการอบรมในสถานพินิจเป็นเวลาไม่เกินกว่า ๑ ปี แต่ต้องไม่เกินกว่าเด็กหรือเยาวชนนั้น มีอายุ ๒๔ ปีบริบูรณ์ ตามมาตรา ๑๓๙
๒.๒ กรณีเด็กหรือเยาวชนมีความผิด สามารถแยกได้เป็น ๓ กรณีดังนี้
ก. กรณีที่เด็กหรือเยาวชนมีความผิด แต่ไม่ต้องได้รับโทษ เป็นกรณีที่เด็กหรือเยาวชนที่มีอายุกว่า ๑๐ ปี แต่ยังไม่เกิน ๑๕ ปี [๑] กระทำผิด ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ (๓) บัญญัติไว้ว่า เด็กหรือเยาวชนนั้นไม่ต้องได้รับโทษ แต่ศาลมีอำนาจมอบตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นให้บิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอาศัยอยู่ โดยศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ด้วยก็ได้ โดยให้พนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ทำหน้าที่คุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนนั้น การคุมความประพฤติในกรณีนี้จึงเป็นการสั่งใช้มาตรการคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนไว้เมื่อศาลเล็งเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขการคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนจะเป็นผลดีแก่เด็กหรือเยาวชนยิ่งกว่าการลงโทษหรือใช้วิธีการฝึกอบรม ศาลอาจปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไป
ข. กรณีที่เด็กหรือเยาวชนมีความผิด และศาลส่งตัวไปกักและอบรมโดยกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำและสูงไว้และในระยะเวลานั้นศาลสั่งให้คุมประพฤติ เป็นกรณีที่เด็กและเยาวชนมีความผิด และศาลมีคำพิพากษาให้ส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรม สถานศึกษา สถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต ถ้าศาลได้กำหนดระยะเวลาขั้นต่ำและขั้นสูงไว้ศาลอาจปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไปในระหว่างเวลาขั้นต่ำและขั้นสูงนั้นก็ได้ โดยศาลจะกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งระยะเวลาที่ศาลจะกำหนดเงื่อนไขให้เด็กหรือเยาวชนปฏิบัติจะต้องไม่เกินระยะเวลาขั้นสูงตามคำพิพากษาในคดีนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๒ ทั้งนี้โดยมีรายละเอียดของเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ ระยะเวลาการคุมความประพฤติ และการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเพิกถอน หรือเพิ่มเติมเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ เมื่อข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการคุมประพฤติเปลี่ยนแปลงไป และการกำหนดผู้ทำหน้าที่ดำเนินการคุมประพฤติ และการดำเนินการกรณีที่เด็กหรือเยาวชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อการคุมประพฤติที่ศาลกำหนด เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๙ และมาตรา ๑๔๓ ดังกล่าว
ค. กรณีที่เด็กหรือเยาวชนมีความผิด และศาลส่งตัวไปกักและอบรมจนครบกำหนดแล้วจึงให้คุมความประพฤติ เป็นกรณีที่เด็กหรือเยาวชนมีความผิด และศาลพิพากษาให้ส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปกักและอบรมหรือฝึกและอบรมในสถานพินิจ สถานศึกษาหรือสถานฝึกและอบรม ต่อมาเมื่อเด็กหรือเยาวชนนั้นได้รับการปล่อยตัวจากโรงเรียนหรือสถานฝึกและอบรม และศาลเองหรือผู้ปกครองสถานพินิจหรือผู้ปกครองสถานศึกษาหรือสถานฝึกและอบรม ร้องขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชนนั้นไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๒ วรรค ๒ ทั้งนี้โดยมีรายละเอียดของเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ ระยะเวลาการคุมความประพฤติ และการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเพิกถอน หรือเพิ่มเติมเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ เมื่อข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เกี่ยวกับการคุมความประพฤติเปลี่ยนแปลงไป และการกำหนดผู้ทำหน้าที่ดำเนินการคุมความประพฤติ และการดำเนินการกรณีที่เด็กหรือเยาวชนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อการคุมความประพฤติที่ศาลกำหนด เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๙ และมาตรา ๑๔๓ ดังกล่าวแล้ว
การแจ้งคำพิพากษาให้คุมความประพฤติ
การแจ้งคำพิพากษาให้คุมความประพฤติ เป็นการดำเนินงานของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว โดยการประสานงานระหว่างสำนักอำนวยการประจำศาลกับธุรการคดีของสำนักงานคุมประพฤติ แยกออกเป็น ๒ กรณี ดังนี้
๑.๑ กรณีศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาให้คุมความประพฤติเด็กหรือเยาวชน ไม่ว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นจะมีที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครหรือในต่างจังหวัด ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะมีหนังสือแจ้งคำพิพากษา (แจ้งผลคำพิพากษากรณีคุมความประพฤติ) ไปยังสำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานครเพื่อให้ดำเนินการ ซึ่งแบ่งเป็น ๒ กรณีย่อย ได้แก่
(ก) กรณีเด็กและเยาวชนมีที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้พิจารณาจ่ายคดีให้กับสำนักงานคุมประพฤติในเขตกรุงเทพมหานครทั้ง ๑๑ แห่ง ตามพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานคุมประพฤติที่เด็กหรือเยาวชนมีที่พักอาศัยอยู่ระหว่างการคุมความประพฤตินั้น (รายละเอียดในทำเนียบสำนักงานคุมประพฤติและเขตพื้นที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคุมประพฤติผู้ใหญ่การคุมประพฤติเด็กและเยาวชน และการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษ ประกอบกับแผนที่สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ)
(ข) กรณีที่เด็กและเยาวชนมีที่พักอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะนัดเด็กและเยาวชนให้ไปพบพนักงานคุมประพฤติที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานครเพื่อรับฟังการชี้แจงเงื่อนไขการคุมความประพฤติ และแนะนำสถานที่ตั้งสำนักงานคุมประพฤติที่เด็กและเยาวชนต้องไปรายงานตัว พร้อมทั้งนัดหมายเด็กและเยาวชนให้ไปพบกับพนักงานคุมประพฤติ ที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด/ประจำศาล ตรงตามสำนักงานที่รับผิดชอบเขตพื้นที่เด็กและเยาวชนนั้นมีที่พักอาศัยอยู่ในระหว่างการคุมความประพฤติ
๑.๒ กรณีศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาให้คุมความประพฤติเด็กและเยาวชน ไม่ว่าเด็กและเยาวชนนั้นจะมีที่พักอาศัยอยู่ในจังหวัดที่ตั้งศาลนั้น หรือจังหวัดอื่น รวมทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะมีหนังสือแจ้งคำพิพากษา (แจ้งผลคำพิพากษากรณีคุมความประพฤติ) ไปยังสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด/ประจำศาลจังหวัดที่รับผิดชอบเขตพื้นที่ที่เด็กและเยาวชนนั้นมีที่พักอาศัยอยู่ในระหว่างการคุมความประพฤติโดยตรง ทั้งนี้โดยสมควรจะได้แจ้งให้เด็กหรือเยาวชนนั้นไปพบพนักงานคุมประพฤติที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด/ประจำศาล ในเขตอำนาจศาลที่มีคำพิพากษานั้นก่อน เพื่อรับฟังการชี้แจงเงื่อนไขเพื่อการคุมความประพฤติและแนะนำสถานที่ตั้งสำนักงานคุมประพฤติที่เด็กและเยาวชนต้องไปรายงานตัว พร้อมทั้งนัดหมายเด็กและเยาวชนให้ไปพบกับพนักงานคุมประพฤติที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด/ประจำศาล ตรงตามสำนักงานที่รับผิดชอบเขตพื้นที่เด็กและเยาวชนนั้นมีที่พักอาศัยอยู่ในระหว่างการคุมความประพฤติหรือตามที่ศาลมีคำพิพากษาให้ไปรายงานตัวนั้น
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน ประกอบด้วยกฎหมายต่อไปนี้
๑. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๓
๒. พระราชกฤษฎีกา โอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๐๗ ประกอบมาตรา ๑๖๑ และมาตรา ๑๖๒
๓. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖-๕๘ มาตรา ๗๓-๗๕
ผู้มีอำนาจสั่งคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน
ผู้ที่มีอำนาจในการสั่งคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน มีดังต่อไปนี้
๑. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
๒. ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด
๓. ศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว
กระบวนการคุมความประพฤติเด็กและเยาวชน
เมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว มีคำพิพากษาให้คุมประพฤติเด็กและเยาวชนไว้ ทั้งที่เป็นการคุมประพฤติก่อนมีคำพิพากษาหรือหลังมีคำพิพากษา ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งกรณีที่เด็กและเยาวชนนั้นจะมีความผิดหรือไม่มีความผิดก็ตาม การดำเนินการคุมประพฤติจะเริ่มขึ้น โดยขั้นตอนการปฏิบัติงานตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษาให้คุมความประพฤติ จนกระทั่งพนักงานคุมประพฤติเสนอรายงานการคุมความประพฤติต่อศาล เมื่อการคุมความประพฤติเสร็จสิ้นลงแล้ว ประกอบด้วย ๖ ขั้นตอนที่ต่อเนื่องกัน ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ การรับคดี
ขั้นตอนที่ ๒ การชี้แจงเงื่อนไขการคุมความประพฤติและรวบรวมข้อมูล
ขั้นตอนที่ ๓ การวิเคราะห์และวางแผน
ขั้นตอนที่ ๔ การดำเนินการควบคุมและสอดส่องตามแผน
ขั้นตอนที่ ๕ การติดตามและประเมินผล
ขั้นตอนที่ ๖ การจัดทำรายงานการคุมความประพฤติ