การสืบเสาะและพินิจ

  1. การสืบเสาะและพินิจผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา๕๖

ความหมาย

การสืบเสาะและพินิจผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ หมายถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติภูมิหลังทางสังคมของจำเลย สภาพความผิดและเหตุอื่นอันควรปรานีก่อนศาลมีคำพิพากษา โดยมีพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งศาลแล้วนำมาวิเคราะห์ ประเมินและทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อศาล เพื่อใช้ประกอบดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีว่าจะใช้มาตรการใดจึงจะเหมาะสมกับจำเลยเป็นรายบุคคล

วัตถุประสงค์

                    เมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ วรรคแรกสามารถสรุปวัตถุประสงค์การสืบเสาะและพินิจเป็น ๓ ประการ ดังนี้

                    ๒.๑ เพื่อเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับประวัติและภูมิหลังทางสังคมของจำเลยว่าจะใช้มาตรการใดจึงจะเหมาะสมกับจำเลยเป็นรายบุคคล

                    ๒.๒ เพื่อกลั่นกรองผู้กระทำความผิดที่เหมาะสมเข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมและแนวโน้มในการแก้ไขปรับปรุงตนเองในชุมชนของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก

                    ๒.๓ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในชุมชน

หลักการในการปฏิบัติงานสืบเสาะและพินิจ

                    หลักการปฏิบัติงานสืบเสาะและพินิจนั้น อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติงานของกรมคุมประพฤติ และมาตรฐานองค์การสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งพนักงานคุมประพฤติต้องยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติงาน ดังนี้

                    ๑. การปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยเหตุที่ว่าการสืบเสาะและพินิจเป็นกระบวนการในการแสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยเพื่อวิเคราะห์และประเมินทำเป็นรายงานพร้อมความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อศาลเพื่อใช้ประกอบดุลพินิจในการพิพากษาให้เหมาะสมกับจำเลยแต่ละบุคคล ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานจึงต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชนยอมรับและเชื่อถือ

                    ๒.การเก็บรักษาความลับ   พนักงานคุมประพฤติต้องปกปิดข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบเสาะและพินิจไว้เป็นความลับ ไม่นำไปเปิดเผยนอกอำนาจหน้าที่ของตนเว้นแต่ในกรณีของการปรึกษาหารือในการปฏิบัติงาน และการศึกษาวิจัยในทางวิชาการเท่านั้น

                    ๓. การวางตัวเป็นกลาง พนักงานคุมประพฤติต้องปฏิบัติหน้าที่ค้นหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงของจำเลยและจัดทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นและข้อเสนอแนะต่อศาลด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกของตนเป็นเกณฑ์ตัดสิน ปฏิบัติงานโดยปราศจากความลำเอียง ที่เกิดจากความชอบหรือไม่ชอบเป็นการส่วนตัวและไม่ปฏิบัติงานในลักษณะเลือกที่รักมักที่ชังทั้งต่อตัวจำเลย ผู้เสียหายและบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดี โดยยึดหลักเกณฑ์และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยแต่ละรายเป็นสำคัญ

                    ๔. การยอมรับในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์  แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายและอยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล แต่จำเลยก็ยังคงมีสถานภาพเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นปัจเจกบุคคลผู้หนึ่งที่มีศักดิ์ศรีและมีสิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย ดังนั้นการดำเนินการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ก็จะต้องเป็นไปโดยยอมรับในความเป็นมนุษย์ด้วยการให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีของจำเลยนั้น การสอบปากคำและการปฏิบัติใดๆ กับจำเลยจึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงหลักการนี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งในส่วนผู้เสียหาย พยาน และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นต้องได้รับการให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน

                    ๕. การยอมรับในศักยภาพที่จะกลับตนเป็นพลเมืองดีของจำเลย ในการสืบเสาะและพินิจเพื่อกลั่นกรองผู้กระทำความผิดที่เหมาะสมเข้าสู่กระบวนการควบคุมและสอดส่องนั้น พนักงานคุมประพฤติจะต้องให้การยอมรับในศักยภาพของจำเลยในการปรับปรุงแก้ไขตนเองเพื่อกลับตนเป็นพลเมืองดี โดยคำนึงถึงแนวโน้มในการแก้ไขปรับปรุงตนเองในชุมชนของจำเลยเป็นสำคัญ

                   ๖. การนำเสนอข้อเท็จจริงตามความเป็นจริงอย่างมีเหตุผลและมีหลักฐาน  การนำเสนอข้อเท็จจริงจากการสืบเสาะและพินิจในรายงานการสืบเสาะและพินิจ จำเป็นต้องเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริงอย่างมีเหตุผลและมีหลักฐานยืนยันได้ มิใช่เป็นการคาดเดาหรือกะเกณฑ์เอาตามความรู้สึกของพนักงานคุมประพฤติเองซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อจำเลย ต่อพนักงานคุมประพฤติ และต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยส่วนรวม

                    ๗. การปฏิบัติงานอย่างมีระบบแบบแผนการปฏิบัติงานสืบเสาะและพินิจถือเป็นการปฏิบัติงานในวิชาชีพ ที่มีระบบระเบียบและขั้นตอนวิธีการเฉพาะ อีกทั้งมีระยะเวลาจำกัดในการปฏิบัติงาน พนักงานคุมประพฤติผู้ปฏิบัติงานสืบเสาะและพินิจจึงต้องคำนึงถึงหลักการในการปฏิบัติงานตามขั้นตอนและวิธีการของการสืบเสาะและพินิจอย่างเคร่งครัด ภายใต้การวางแผนในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

                    ๘. การคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ในขั้นตอนการสืบเสาะและพินิจ พนักงานคุมประพฤติอาจจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริง หรือดำเนินการอื่นใดกับพยาน/ผู้เสียหายที่เป็นเด็กหรือเยาวชน การปฏิบัติงานจึงต้องให้ความเคารพสิทธิและความเป็นส่วนตัวของเด็กหรือเยาวชน โดยจะต้องป้องกันผลกระทบในทางเลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กหรือเยาวชนจากการที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการสืบเสาะและพินิจ ฉะนั้น การสอบปากคำหรือดำเนินการอื่นใดกับพยาน/ผู้เสียหายที่เป็นเด็กหรือเยาวชน จะต้องดำเนินการโดยปกปิด มิให้มีการเผยแพร่ให้ผู้อื่นล่วงรู้หรือสามารถบ่งชี้ตัวเด็กหรือเยาวชน พนักงานคุมประพฤติควรจะต้องอำนวยความสะดวกให้ความเชื่อมั่นและความอุ่นใจแก่เด็กหรือเยาวชน มิให้เกิดความวิตกกลัวหรือได้รับความอับอาย เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือได้รับผลกระทบด้านอารมณ์/จิตใจในเชิงลบ รวมทั้งต้องปกป้องมิให้เด็กหรือเยาวชนเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย

                    ๙. การดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายตามหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์  พนักงานคุมประพฤติจะต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญกับตัวผู้เสียหายในฐานะที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำความผิด โดยมิควรมุ่งเฉพาะการแสวงหา และการนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวจำเลยและพฤติการณ์แห่งความผิดเพียงประการเดียว พนักงานคุมประพฤติผู้ดำเนินการสืบเสาะและพินิจจึงต้องปฏิบัติงานอยู่บนพื้นฐานของการรับฟังผู้เสียหาย และแสวงหา หรือ มีการดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายตามหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยให้ความสนใจต่อความต้องการจำเป็นของผู้เสียหาย(ซึ่งตกอยู่ในสภาพเป็นเหยื่ออาชญากรรมหรือการกระทำความผิด) ทั้งด้านวัตถุ สิ่งของ การเงิน อารมณ์ความรู้สึกของผู้เสียหาย รวมทั้งสังคมด้วย

                    ดังนั้น การดำเนินการสืบเสาะและพินิจจึงต้องดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เพื่อให้ฝ่ายจำเลยและฝ่ายผู้เสียหายได้มีโอกาสพบปะและเจรจาร่วมกันโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การแสวงหาข้อตกลงร่วมกันในการเยียวยาและ/หรือชดใช้ค่าเสียหาย และประสานสัมพันธภาพระหว่างจำเลยและผู้เสียหายที่สูญเสียไปจากการกระทำผิดของจำเลยให้กลับฟื้นคืนเหมือนเดิม

ขั้นตอนและวิธีการสืบเสาะและพินิจ

                    ขั้นตอนในการสืบเสาะและพินิจจะเริ่มต้นเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจ เจ้าหน้าที่ธุรการของศาลจะแจ้งคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทราบ โดยเจ้าหน้าที่ธุรการในสำนักงานคุมประพฤติเป็นผู้รับคำสั่งจากศาลแล้วนำไปลงทะเบียนรับคดีไว้เป็นหลักฐาน ต่อจากนั้นผู้อำนวยการสำนักงานหรือผู้ที่รับผิดชอบในการจ่ายคดีจึงมอบหมายให้พนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งศาล

                    ในขั้นตอนและวิธีการสืบเสาะและพินิจ มีลักษณะการปฏิบัติงานที่สำคัญ ๓ ประการ คือ

๑. การสั่งสืบเสาะและพินิจของศาล

๒. การปฏิบัติงานของธุรการคดี

๓. การปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติ

ประเภทคดีที่ศาลจะสั่งสืบเสาะและพินิจ

                    พระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ วรรคแรก ลักษณะคดีโดยทั่วไปที่จะศาลจะสั่งสืบเสาะและพินิจ ดังนี้

                    ๑.๑ คดีที่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

                    ๑.๒ คดีที่ศาลเห็นว่าจะลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๓ ปี เพราะหากพนักงานคุมประพฤติได้ทำรายงานสืบเสาะและพินิจพร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อศาลว่าจำเลยสมควรจะได้รับโอกาสปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เป็นพลเมืองดี และศาลมีความเห็นตามที่พนักงานคุมประพฤติเสนอ ศาลก็จะสามารถพิพากษารอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษได้

                    ๑.๓ คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว เนื่องจากการสืบเสาะและพินิจ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติภูมิหลังของจำเลย มูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิด ความหนักเบาของพฤติการณ์แห่งคดี แนวโน้มเกี่ยวกับพฤติกรรมของจำเลย เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและปัจจัยที่จะทำให้จำเลยกระทำความผิด และเพื่อพิจารณาว่าสมควรจะนำวิธีการคุมความประพฤติมาใช้กับจำเลยหรือไม่ และถ้าสมควร จะใช้วิธีการอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับจำเลยแต่ละราย

                    แต่กระนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดที่ห้ามมิให้ศาลสั่งสืบเสาะและพินิจคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งได้ แต่โดยปกติศาลจะจำกัดประเด็นการสืบเสาะไว้ในเรื่องที่ศาลต้องการทราบเท่านั้น เช่น ประวัติครอบครัว นิสัยความประพฤติ บ้านและสภาพแวดล้อม หรือเหตุอื่นอันควรปรานี ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความถูกผิดของจำเลย

วิธีการสั่งสืบเสาะและพินิจ

                    เมื่อศาลเห็นสมควรให้มีการสั่งสืบเสาะและพินิจในคดีใดแล้ว ศาลก็จะมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจในรายงานกระบวนพิจารณา จากนั้นจะมีคำสั่งถึงพนักงานคุมประพฤติ ให้สืบเสาะและพินิจ โดยใช้แบบ ค.ป.๑

ระยะเวลาที่ศาลสั่งให้ดำเนินการ

                    ตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙  ได้บัญญัติไว้ความว่า “เมื่อศาลสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงตามมาตรา ๑๑ ให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจโดยไม่ชักช้า และให้ทำรายงานพร้อมกับความเห็นเสนอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลสั่ง แต่ถ้าไม่อาจทำให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาต่อไปอีกเท่าที่จำเป็นแต่ไม่เกินสามสิบวันก็ได้”

                    จะเห็นได้ว่าตามมาตราดังกล่าวกำหนดให้ส่งรายงานการสืบเสาะและพินิจต่อศาลภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลสั่ง อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวก็เปิดโอกาสให้ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการทำรายงานพร้อมความเห็นเสนอต่อศาลได้อีกไม่เกิน ๓๐ วัน ดังนั้นเมื่อพนักงานคุมประพฤติไม่สามารถส่งรายงานการสืบเสาะและพินิจต่อศาล ภายใน ๑๕ วัน พนักงานคุมประพฤติต้องยื่นคำร้องขออนุญาตขยายเวลาต่อศาล

 

  1. การสืบเสาะข้อเท็จจริงผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก

ความหมาย

การพักการลงโทษ (Parole) หมายถึง การปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดออกมาอยู่นอกเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษภายใต้เงื่อนไขการคุมประพฤติ ซึ่งเป็นมาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขฟื้นฟูนักโทษให้มีความพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี มีอาชีพสุจริต และประพฤติตนเป็นพลเมืองดีภายหลังพ้นโทษ มาตรการนี้ถือเป็นประโยชน์ที่ให้นักโทษเด็ดขาดที่ประพฤติตนดี มีระเบียบวินัยระหว่างต้องโทษอยู่ในเรือนจำ และจะพึงกระทำได้เมื่อนักโทษเด็ดขาดนั้นได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้น หรือไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีในกรณีต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต และระยะเวลาที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น ให้กำหนดไม่น้อยกว่า ๑ ปี แต่ไม่เกินกำหนดโทษที่ยังเหลืออยู่

การลดวันต้องโทษจำคุก (Good – Time Allowance) หมายถึง การให้ประโยชน์ลดวันต้องโทษจำคุกแก่นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดีในระหว่างต้องโทษอยู่ในเรือนจำ ซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา ถึงที่สุดแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือไม่น้อยกว่าสิบปีในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดระยะเวลา ซึ่งนักโทษเด็ดขาดที่จะได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก ต้องเป็นนักโทษชั้นดีขึ้นไปเท่านั้น และนักโทษเด็ดขาดที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี อยู่ในชั้นกลางขึ้นไป หากออกไปทำงานนอกเรือนจำหรือทัณฑสถาน (ทำงานสาธารณะ) จะได้รับลดวันต้องโทษอีกตามจำนวนวันที่ทำงาน นักโทษที่ได้รับวันลดวันต้องโทษจำคุกสะสมเท่ากับกำหนดโทษที่เหลืออยู่ จะได้รับการพิจารณาปล่อยออกไปอยู่นอกเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ

วัตถุประสงค์

          การปล่อยคุมประพฤติผู้ได้รับการพิจารณาพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก เป็นมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชนขั้นตอนภายหลังศาลมีคำพิพากษา ผู้กระทำผิดทั้งสองกลุ่มนี้เป็นนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับโทษในเรือนจำหรือทัณฑสถานมาระยะหนึ่ง และมีความประพฤติดีอยู่ในข่ายตามเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ที่จะพิจารณาปล่อยตัวออกมาสู่สังคมภายนอกก่อนครบกำหนดโทษภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ ซึ่งกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดภายนอกสถานคุมขังเป็นวิธีการแก้ไขฟื้นฟูตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้กระทำแต่ละรายเป็นการป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดกลับไปกระทำผิดซ้ำและสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมภายนอก เป็นกำลังสำคัญให้แก่ประเทศชาติจนถึงสังคมหน่วยย่อยดังเช่นสุจริตชนทั่วไป

หลักเกณฑ์การพิจารณาการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก

การพักการลงโทษ

๑. พฤติการณ์ในระหว่างคุมขังอยู่ในเรือนจำ คือ

          ๑.๑ ความอุตสาหะ

          ๑.๒ ความก้าวหน้าในการศึกษา

          ๑.๓ การทำงานหรือทำความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษ

          ๑.๔ ความประพฤติขณะต้องโทษ

๒. พฤติกรรมก่อนต้องโทษจำคุก

          ๒.๑ ประวัติครอบครัว

          ๒.๒ อาชีพ

          ๒.๓ ข้อเท็จจริงในการกระทำผิด (สาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น)

๓. ผู้อุปการะและที่อยู่อาศัย โดยพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ฐานะ อาชีพ ตลอดจนสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย

ระยะเวลาที่นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการพักการลงโทษ มีดังนี้

- ชั้นเยี่ยม ไม่เกิน ๑ ใน ๓ ของกำหนดโทษ ที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด

- ชั้นดีมาก ไม่เกิน ๑ ใน ๔ ของกำหนดโทษ ที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด

- ชั้นดี ไม่เกิน ๑ ใน ๕ ของกำหนดโทษ ที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด

การลดวันต้องโทษจำคุก

          ๑. นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกให้เดือนละไม่เกิน ๕ วันแต่การลดวันต้องโทษจำคุกจะพึงกระทำได้เมื่อนักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ เดือน หรือไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลา

          ๒. นักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ เดือน นับตั้งแต่วันต้องจำคุกจนถึงวันที่เข้าหลักเกณฑ์ คือ จำมาแล้ว ๑๘๐ วัน และเป็นชั้นดีขึ้นไป ทั้งนี้ให้รวมวันหักขังเข้าด้วย

          ๓. นักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกมาในกรณีต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี จึงจะเริ่มได้รับผลประโยชน์จากการลดวันต้องโทษจำคุกตามชั้นที่มีตามหลักเกณฑ์

          นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกตามชั้นและตามจำนวนวัน ดังต่อไปนี้

- ชั้นเยี่ยม เดือนละ ๕ วัน

- ชั้นดีมาก เดือนละ ๔ วัน

- ชั้นดี เดือนละ ๓ วัน

การขอความร่วมมือสืบเสาะข้อเท็จจริงผู้ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก

          เมื่อเรือนจำ/ทัณฑสถานตรวจสอบรายชื่อนักโทษเด็ดขาดที่เข้าเกณฑ์พักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุกแล้ว เรือนจำ/ทัณฑสถาน จะส่งหนังสือขอความร่วมมือสืบเสาะข้อเท็จจริงนักโทษเด็ดขาดถึงผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ

ระยะเวลาการสืบเสาะข้อเท็จจริงผู้ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก

          สำนักงานคุมประพฤติต้องส่งรายงานการสืบเสาะข้อเท็จจริงนักโทษเด็ดขาดไปยังเรือนจำหรือทัณฑสถาน ภายใน ๑ เดือน อย่างช้าไม่เกิน ๒ เดือน นับตั้งแต่วันที่สำนักงานคุมประพฤติรับเรื่อง

 

ผู้บริหาร

 นายพิพัฒน์ ว่องธีรกิจโกศล
ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต

 

    มี 144 ผู้มาเยือน และ ออนไลน์

  ผู้เยี่ยมชมวันนี้ 35
  ผู้เยี่ยมชมเมื่อวานนี้ 43
  ผู้เยี่ยมชมสัปดาห์นี้ 195
  ผู้เยี่ยมชมเดือนนี้ 888
  ยอดผู้เยี่ยมชม 41075