Probation News :

 นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน กรมคุมประพฤติ - ประกาศเมื่อ..10 มกราคม 2566 ...:3263
  1. แผนภูมิแสดงขั้นตอนและระยะเวลาการให้บริการ
  2. ประชาสัมพันธ์

การสงเคราะห์ในงานคุมประพฤติ

ความเป็นมา

         นับตั้งแต่งานคุมประพฤติได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นต้นมา ปรากฏว่าปัญหาเบื้องต้นในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องความยากจน การขาดอุปกรณ์พื้นฐานในการดำรงชีวิตหรือค่ารักษาพยาบาลเมื่อเวลาเจ็บป่วย เป็นต้น ซึ่งในระยะแรกยังไม่ได้รับการสนับสนุนการบริการต่างๆ จากภาครัฐหรือเอกชน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๕ กระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีจิตศรัทธาจัดตั้งมูลนิธิแก้ไขฟื้นฟูและสงเคราะห์ผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในด้านการช่วยเหลือและแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง ปัจจุบัน รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการสงเคราะห์ผู้กระทำผิดในงานคุมประพฤติจึงได้อนุมัติงบประมาณเพื่อการสงเคราะห์ผู้กระทำผิดที่มีฐานะยากจนและขัดสน          

         ดังนั้น งานสงเคราะห์ผู้กระทำผิดจึงได้มีบทบาทและเป็นภารกิจที่สำคัญส่วนหนึ่งของกรมคุมประพฤติ โดยถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตนเป็นพลเมืองดี ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ให้กรมคุมประพฤติเป็นหน่วยงานหลักเกี่ยวกับการสงเคราะห์ผู้กระทำผิดภายหลังพ้นจากการคุมประพฤติหรือผู้กระทำผิดหลังปล่อยจากกรมราชทัณฑ์(Aftercare)จึงทำให้กระบวนการสงเคราะห์ผู้กระทำผิดของกรมคุมประพฤติครอบคลุมไปถึงผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กและเยาวชนและผู้ใหญ่ที่ได้รับการปล่อยตัวหรือพ้นจากเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดและรวมถึงผู้ที่อยู่ในกระบวนการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ ด้วย

วัตถุประสงค์

               ๑. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ต้องหาและผู้กระทำผิดในการแก้ไขฟื้นฟูหรือการปรับตัวเข้าสู่สังคม

               ๒. เพื่อช่วยให้ผู้ต้องหาและผู้กระทำผิดสามารถช่วยเหลือตนเองและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามสมควร

               ๓. เพื่อป้องกันมิให้ผู้ต้องหาและผู้กระทำผิดหวนกลับไปกระทำผิดอีก

 

หลักการและคุณสมบัติของผู้ขอรับการสงเคราะห์

       ๑.  เป็นผู้ต้องหาและผู้กระทำผิดที่อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติ

       ๒.  มีฐานะยากจนหรือมีความขัดสนและเหมาะสมที่จะได้รับการสงเคราะห์

       ๓.  มีความประสงค์ที่จะได้รับการช่วยเหลือสงเคราะห์

      ๔.  ต้องยื่นคำร้องขอรับการสงเคราะห์ตามแบบที่กรมคุมประพฤติกำหนด

      ๕.  แสดงหลักฐานประจำตัว หรือบัตรกำหนดนัดรายงานตัว หรือใบบริสุทธิ์ หรือหลักฐานการปล่อยตัวจากสถานพินิจฯ ทุกครั้งที่ไปติดต่อ

การสงเคราะห์ระหว่างคุมประพฤติ ตรวจพิสูจน์ และฟื้นฟูฯ

  1. การสงเคราะห์ระหว่างคุมประพฤติ ระหว่างตรวจพิสูจน์และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

       เป็นการให้การสงเคราะห์แก่ผู้ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือการปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล หรือของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือของคณะกรรมการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก

ประเภทการให้การสงเคราะห์

                ๑. การให้การศึกษา

                ๒. การส่งเสริมด้านการหางาน

                ๓. การฝึกอาชีพ

                ๔. การสงเคราะห์ค่าอาหาร

                ๕. การสงเคราะห์ค่าพาหนะ

                ๖. การสงเคราะห์ค่ายังชีพ

               ๗. การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาล

                          ก. ทางกายและทางจิต

                          ข. อาการติดยาเสพติดให้โทษ

              ๘. การสงเคราะห์เงินทุนประกอบอาชีพ

              ๙. การประกันตัวจำเลยในระหว่างการสืบเสาะและพินิจ

             ๑๐. การสงเคราะห์ด้านที่อยู่อาศัย (บ้านกึ่งวิถี)

             ๑๑. การให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นอื่นๆ ตามที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการได้

ประเภทของผู้ขอรับการสงเคราะห์

      ๑. จำเลยที่ศาลมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจ

      ๒. ผู้ถูกคุมความประพฤติทั้งที่เป็นเด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก

      ๓. ผู้อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์และการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕

      ๔. ผู้อยู่ระหว่างทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ

 

ขั้นตอนการขอรับการสงเคราะห์ 

     ๑. ยื่นคำร้องขอรับการสงเคราะห์ตามแบบฟอร์มที่กรมคุมประพฤติกำหนด 

     ๒. พนักงานคุมประพฤติพิจารณาคำร้องและตรวจสอบข้อเท็จจริง

     ๓. เจ้าหน้าที่ธุรการตรวจสอบรายละเอียดการขออนุมัติและงบประมาณ

     ๔. ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติพิจารณา

     ๕. กรณีอนุมัติ เจ้าหน้าที่ธุรการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์

         กรณีไม่อนุมัติพนักงานคุมประพฤติจะชี้แจงเหตุผลให้ทราบ

การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในงานคุมประพฤติ

          กระบวนการแก้ไขฟื้นฟู (Rehabilitation) ถือเป็นหัวใจสำคัญของงานคุมประพฤติ หลักการทำงานแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเชื่อว่าการกระทำของผู้กระทำผิดเป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ปัจจัยทางจิตวิทยา ปัจจัยทางชีวภาพและปัจจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม ซึ่งแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดต้องพิจารณาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดการกระทำผิด และการแก้ไขที่สาเหตุของการกระทำผิดนั้นๆ โดยเน้นที่การศึกษาผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคลหรือการจำแนกลักษณะ เพื่อหาสาเหตุของการกระทำผิดและแนวทางแก้ไข การค้นหาปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการกระทำผิด โดยพิจารณาทั้งด้านพฤติกรรม (Behavior) อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) ความคิดความเชื่อ (Cognitive) เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์จำแนกตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้ถูกคุมความประพฤติว่า ผู้ถูกคุมความประพฤติรายใดมีสภาพปัญหา และ/หรือความต้องการในด้านใด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและจัดกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูเพื่อติดตามสอดส่อง ควบคุมดูแล เยียวยาแก้ไขและให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้ถูกคุมความประพฤติแต่ละราย

ความหมายของการแก้ไขฟื้นฟู

ความหมายของการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ปรับปรุงเจตคติ ความรู้สึก ความคิดและพฤติกรรมของผู้กระทำผิดให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมโดยปกติสุข ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก โดยพนักงานคุมประพฤติจะคอยดูแล สอดส่อง ช่วยเหลือด้วยวิธีการต่างๆทั้งทางด้านจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ และศาสตร์สาขาอื่นๆ เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน

วัตถุประสงค์ของการแก้ไขฟื้นฟู

วัตถุประสงค์ของการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเป็นขั้นตอนการปฏิบัติงานหลังจากพนักงานคุมประพฤติ  ได้วิเคราะห์และวางแผนแล้วว่า ผู้ถูกคุมความประพฤติแต่ละรายควรได้รับการแก้ไขฟื้นฟูอย่างไรจึงเหมาะสมและดำเนินการจัดกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูหรือดำเนินโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูตามแผนที่กำหนดไว้ การแก้ไขฟื้นฟูมีวัตถุประสงค์

          ๑. เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขพฤติกรรมของผู้ถูกคุมความประพฤติให้เป็นไปในทางที่พึงปรารถนา

          ๒. เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพชีวิต

          ๓. เพื่อป้องกันมิให้ผู้ถูกคุมความประพฤติกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

การจัดกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟู

          รูปแบบกิจกรรมในกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูมีทั้งการช่วยเหลือเป็นปัจเจกบุคคล และการช่วยเหลือแบบกลุ่ม โดยแบบปัจเจกบุคคล มักเป็นกระบวนการเร่งด่วนสำหรับผู้มีปัญหาเฉพาะด้านที่จะต้องแก้ไข สำหรับแบบกลุ่มนั้นเป็นวิธีการที่ใช้อย่างกว้างขวางในการส่งเสริมศักยภาพของบุคคล กระบวนการกลุ่มมีลักษณะเด่นที่สำคัญคือการสนับสนุนให้กำลังใจของสมาชิกกลุ่ม(Group support) ที่จะช่วยให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน นำไปสู่การปรับตัวเข้าสู่ครอบครัว ชุมชน สังคมต่อไป 

                    การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในงานคุมประพฤติ มีกิจกรรมและโปรแกรมในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด โดยบูรณาการความรู้ทักษะของนักวิชาชีพ (Profession) ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ด้านจิตวิทยา พฤติกรรมศาสตร์  สังคมสงเคราะห์  ศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นในการจัดกิจกรรมและโปรแกรมต่างๆ ซึ่งกิจกรรมการแก้ไขฟื้นฟูรายบุคคลเป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติแต่ละรายตามตามความจำเป็นและเหมาะสมได้แก่ การให้การปรึกษารายบุคคล/ครอบครัว การให้การศึกษา การยืมทุนประกอบอาชีพ  การส่งเสริมการมีงานทำ การฝึกอาชีพ การสงเคราะห์ด้านการพยาบาล การสงเคราะห์ค่าพาหนะ  การสงเคราะห์ค่าอาหาร การทำงานบริการสังคมรายบุคคล นอกจากนี้การแก้ไขฟื้นฟูด้วยกิจกรรมที่จัดเป็นกลุ่ม ได้แก่ การอบรมแก่ผู้ถูกคุมความประพฤติ ซึ่งจะจัดให้ความรู้ตามหลักสูตรและโปรแกรมต่างๆ การอบรมธรรมะ ค่ายจริยธรรม การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม ค่ายยาเสพติด เป็นต้น กิจกรรมการแก้ไขฟื้นฟูดังกล่าวมีดังต่อไปนี้

             ๑. การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา  เป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้รับการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา (counseling) ด้วยการใช้เทคนิคการให้คำปรึกษาต่างๆประกอบกัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีสาเหตุจากลักษณะจิตใจ สุขภาพจิต บุคลิกภาพ แรงจูงใจ ทัศนคติ ค่านิยม ตลอดจนพฤติกรรมทางสังคมต่างๆ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต โดยมีพนักงานคุมประพฤติหรือผู้ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะเป็นผู้ดำเนินการ สามารถจัดได้ ๒ รูปแบบ ดังนี้

               ๑.๑ การให้คำปรึกษาแบบรายบุคคล  (Individual Counseling) เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติสามารถเข้าใจตนเอง (Self understanding) ยอมรับตนเอง (Self acceptance) สามารถตีความปฏิสัมพันธ์กับสังคม สิ่งแวดล้อม ที่มีอิทธิพลต่อตนเองต่อสังคมรอบข้าง มองเห็นทางเลือก และนำไปสู่การคิดตัดสินใจด้วยตนเอง (Self determinism)

               ๑.๒ การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม (Group Counseling) กระบวนการกลุ่ม (Group Process) และบรรยากาศของความสัมพันธ์ภายในกลุ่มมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ การแสดงออกทางด้านอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยตนเอง  และการสะท้อนกลับของสมาชิกกลุ่ม ดังนั้นบทบาทของผู้นำกลุ่มจะต้องเป็นผู้ที่เอื้อให้มีการเคลื่อนไหวภายในกลุ่ม

             ๒.  กิจกรรมการอบรม  มีรูปแบบวิธีการของการดำเนินการเป็นการบรรยาย การอภิปราย  โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก  จำนวนผู้เข้าร่วมขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่จะให้เรียนรู้ วิทยากรผู้ให้ความรู้มีทั้งจากภายนอกและภายในหน่วยงาน  ซึ่งแบ่งการอบรมได้ดังนี้

               ๒.๑ กิจกรรมการอบรมความรู้ในด้านต่างๆ เป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติที่สมควรได้รับการเสริมสร้างหรือพัฒนาความรู้หรือความเข้าใจ รวมทั้งทัศนคติและทักษะความชำนาญ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เน้นในด้านการรู้คิด (cognition) เป็นสำคัญให้ได้เข้ารับการถ่ายทอดอบรมความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ จากวิทยากรหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นไปตามที่กำหนดเป็นวัตถุประสงค์ของการอบรมความรู้นั้นๆ กิจกรรมการอบรมความรู้และระยะเวลาที่ใช้ ตลอดจนรูปแบบวิธีการของการอบรมความรู้จะมีลักษณะที่แตกต่างกันตามเนื้อหาหลักสูตรที่กำหนดไว้ของแต่ละหลักสูตร โดยมุ่งเน้นที่การสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ และเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ตระหนักในบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม นำไปสู่ผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ถูกคุมความประพฤติตามวัตถุประสงค์ของการอบรมความรู้ที่กำหนดไว้ เช่นความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายทั่วไป กฎจราจร การประกอบอาชีพ เป็นต้น

               ๒.๒ กิจกรรมการอบรมธรรมะ  เป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติที่สมควรได้รับการขัดเกลาจิตใจด้วยหลักธรรมคำสอนทางศาสนาตามที่ตนนับถือ ให้ได้รับการสั่งสอนอบรมด้วยหลักธรรมทางศาสนา เพื่อให้มีแนวทางในการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง สามารถดำรงตนในสังคมในฐานะพลเมืองที่ดีโดยจะจัดให้มีการบรรยายหลักธรรมะหรือฝึกปฏิบัติธรรมแก่ผู้ถูกคุมความประพฤติเป็นกลุ่มๆ จำนวนหนึ่งตามที่ได้กำหนดนัดหมายไว้ ครั้งละ ๑-๓ ชั่วโมง ส่วนใหญ่มักจะให้จัดขึ้นที่วัดหรือศาสนสถาน สำหรับหลักธรรมะที่จะกำหนดขึ้นเป็นหัวข้อในการบรรยายอบรมแต่ละครั้ง จะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและบริบทที่เกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตามจะครอบคลุมสาระสำคัญของหลักธรรมะที่จะช่วยให้ผู้ถูกคุมความประพฤติสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันในแบบของผู้ครองเรือนได้ ทั้งนี้โดยที่สำนักงานคุมประพฤติจะเป็นผู้กำหนดหัวข้อและพิจารณานิมนต์พระสงฆ์หรือเชิญผู้นำทางศาสนาต่างๆ มาให้การอบรมธรรมะตามแผนการจัดกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูที่กำหนดไว้

             ๓. โปรมแกรมค่าย มีรูปแบบวิธีดำเนินการให้มีการใช้ชีวิตร่วมกันเป็นกลุ่มในลักษณะการเข้าค่าย อาจเป็นระยะเวลา ๓-๕ วัน ในระหว่างกิจกรรมจะต้องประพฤติปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้และเข้าร่วมกิจกรรมตามตารางกิจกรรมที่กำหนด โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะวิทยากรและพนักงานคุมประพฤติผู้รับผิดชอบ ซึ่งมีโปรแกรมค่ายดังนี้

               ๓.๑ ค่ายจริยธรรม เป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติที่สมควรได้รับการปรับปรุงพฤตินิสัยด้วยการอาศัยหลักธรรมทางศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและใช้การปฏิบัติตามศาสนวิถีเป็นเครื่องมือในการฝึกฝนและพัฒนาจิตใจอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ ให้ได้เข้ารับการอบรมฝึกฝนด้วยกิจกรรมการให้ความรู้และฝึกปฏิบัติตามหลักธรรมของแต่ละศาสนา โดยกำหนดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มในลักษณะของการเข้าค่ายที่วัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมหรือศาสนสถานที่สำนักงานคุมประพฤติได้มีการประสานงานและเตรียมการรองรับไว้แล้ว

               ๓.๒ ค่ายยาเสพติด ใช้แนวคิดในการปรับเปลี่ยนการรู้คิดเพื่อปรับพฤติกรรม (cognitive – behavioral  approach) สามารถแยกรูปแบบของค่ายได้ดังนี้

                                        - ค่ายยาเสพติดสำหรับผู้เสพ/ผู้ติด เป็นค่ายยาเสพติด สำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติและครอบครัว (ค่ายก้าวใหม่) เป็นการประยุกต์กิจกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบ Matrix Programผนวกกับการแก้ไขฟื้นฟูตามแนว Reality Therapy และการแก้ไขฟื้นฟูตามหลักธรรมของแต่ละศาสนา โดยมีหลักสูตรครอบคลุมการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคมที่เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการติดยาเสพติด ความรู้และทักษะการป้องกันการหวนกลับไปเสพซ้ำและเลิกยาเสพติดในระยะเริ่มต้น การให้การสนับสนุนทางสังคมและการส่งเสริมบทบาทของครอบครัวในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนจัดให้มีการฝึกฝนระเบียบวินัยในการดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีคุณภาพ ค่ายยาเสพติดกรณีนี้สามารถใช้เป็นกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูสำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติที่เป็นผู้เสพ/ผู้ติดที่มีระดับความรุนแรงของการเสพติดในระดับต่ำ-ปานกลางและอยู่ในวิสัยที่จะสามารถควบคุมตัวเองให้เลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ด้วยตนเอง

                                        - ค่ายยาเสพติดสำหรับผู้ค้ารายย่อย  เป็นการประยุกต์ใช้กิจกรรมการแก้ไขฟื้นฟูที่มุ่งสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม/ชุมชนอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติละเลิกการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในฐานะของผู้ค้ารายย่อยหรือรับจ้างซื้อยาเสพติด ค่ายยาเสพติดกรณีนี้สามารถใช้เป็นกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูสำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติที่เป็นผู้ค้าและรับจ้างซื้อยาเสพติด เพื่อป้องกันการหวนกลับไปกระทำผิดในลักษณะเดิมอีก

             ๔. กิจกรรมกลุ่มเพื่อการแก้ไขฟื้นฟู เป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มุ่งป้องกันการกระทำผิดซ้ำ  ลดพฤติกรรมเสี่ยง/มีพฤติกรรมที่พึงปรารถนา มีทักษะชีวิตที่จำเป็นและมีสัมพันธภาพที่ดีกับครอบครัวและผู้อื่น กิจกรรมกลุ่มเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ชุดกิจกรรม ดังนี้

                    (๑) โปรแกรมพื้นฐาน เป็นโปรแกรมที่กำหนดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทุกคนต้องเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟู โดยประกอบด้วยกิจกรรมกลุ่มที่มุ่งแก้ไขฟื้นฟูในด้านการเห็นคุณค่าตนเอง การมีเป้าหมายชีวิต การตระหนักรู้ตนเองและการตระหนักรู้ปัจจัยเสี่ยง และปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว

                    (๒) โปรแกรมปัญหาเฉพาะด้าน เป็นโปรแกรมเฉพาะสำหรับผู้ถูกคุมความประพฤติที่มีปัญหาในด้านนั้นๆ โดยประกอบด้วยกิจกรรมกลุ่มที่มุ่งแก้ไขฟื้นฟูเฉพาะด้านนั้นๆ ได้แก่ ความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม การจัดการกับอารมณ์ ทักษะการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ ทักษะการปฏิเสธและการสื่อสาร การสร้างสัมพันธภาพและเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

                    ทั้งนี้โดยพนักงานคุมประพฤติจะได้นัดหมายให้ผู้ถูกคุมความประพฤติเข้าร่วมกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูพื้นฐานและเฉพาะด้านตามที่กำหนดเป็นคราวๆ ต่อเนื่องกันไปจนครบตามแผนการแก้ไขฟื้นฟูที่กำหนดไว้ของผู้ถูกคุมความประพฤติแต่ละราย โดยมีการจัดทำโปรแกรมตามกลุ่มเป้าหมายดังนี้

                         ๔.๑ โปรแกรมแก้ไขฟื้นฟูผู้เสพ/ติดยาเสพติด

                         ๔.๒ โปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติที่เป็นเด็กและเยาวชน

                         ๔.๓ โปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูผู้ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก

             ๕. โปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดคดีจราจร(ขับรถขณะเมาสุรา) เป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบกลุ่ม มีการบรรยายความรู้ การสาธิต และการบำเพ็ญประโยชน์ โดยมีสาระครอบคลุมการแก้ไขฟื้นฟู ๒ ด้านใหญ่ๆ คือ

                         ๑) กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างด้านความรู้ (รู้ไว้ ไม่ทำผิดอีก) เป็นกิจกรรมที่ใช้การช่วยเหลือ พัฒนาส่งเสริมความรู้ให้กับผู้ถูกคุมความประพฤติ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำ ประกอบด้วย แผนการจัดกิจกรรม ๓ ด้าน คือ

                              - ความรู้เกี่ยวกับจราจร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถูกคุมฯทราบถึงกฎหมายจราจรที่ควรรู้ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโทษในการฝ่าฝืนกฎหมาย  

                              -  ความรู้เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ เพื่อให้ผู้ถูกคุมฯได้รับความรู้เกี่ยวกับผลเสียจากการดื่ม และปริมาณการดื่มที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

                              - ความรู้เกี่ยวกับการลด เลิกแอลกอฮอล์ เพื่อการวางแผนและมีแนวทางการลดและเลิกแอลกอฮอล์

                         ๒) กิจกรรมเพื่อเสริมสร้างด้านจิตสำนึก (เพื่อเธอ เพื่อฉัน เพื่อสังคม) เป็นกิจกรรมส่งเสริมสร้างจิตสำนึก เพื่อให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม ประกอบด้วยกิจกรรม ๓ ด้าน คือ

                              - การอบรมและการอบรมธรรมะ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกด้วยกระบวนการกลุ่ม  จัดเวทีเสวนา เรื่อง เสียงสะท้อนจากเหยื่อเมาแล้วขับ

                              - การทำงานบริการสังคม เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความปลอดภัย และความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคม

                              - การรณรงค์ เพื่อสร้างจิตสำนึกและตระหนักถึงอันตรายของอุบัติเหตุ

             ๖. การส่งต่อไปเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟู เป็นการปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติ ในกรณีที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้รับการแก้ไขฟื้นฟูด้วยโปรแกรมหรือวิธีการใด  แต่สำนักงานคุมประพฤติไม่สามารถดำเนินการตามโปรแกรมหรือวิธีการนั้นๆ เองได้โดยตรง หากต้องจัดส่งผู้ถูกคุมความประพฤติไปเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูตามโปรแกรมหรือวิธีการดังกล่าวจากหน่วยงานหรือสถาบันอื่นๆ เช่น โปรแกรมจิตบำบัดโดยนักจิตวิทยาในสถาบันจิตเวช โปรแกรมบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุรา โปรแกรมครอบครัวบำบัดโดยนักจิตวิทยาศูนย์สุขภาพจิต เป็นต้น พนักงานคุมประพฤติจึงต้องดำเนินการประสานงานส่งต่อผู้ถูกคุมความประพฤติไปเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูตามโปรแกรมหรือวิธีการที่หน่วยงานหรือสถาบันอื่นกำหนดนั้น

             ๗. การฝึกอบรมอาชีพเป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติที่มีความต้องการฝึกหัดวิชาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งเข้ารับการฝึกหัดวิชาชีพตามความสนใจหรือความต้องการนั้น ซึ่งอาจเป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติไปเข้ารับการฝึกอาชีพในหลักสูตรที่สถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ศูนย์ฝึกอาชีพ เป็นต้น หรือสำนักงานคุมประพฤติอาจประสานงานจัดหาวิทยากรมาทำการสอนวิชาชีพให้กับกลุ่มผู้ถูกคุมความประพฤติที่มีความสนใจหรือต้องการฝึกวิชาชีพนั้นพร้อมๆ กันเป็นคราวๆ ไป

            ๘. การแนะนำงานอาชีพ เป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติที่ว่างงานหรือต้องการหางานอาชีพใหม่ ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแหล่งงานอาชีพและการจ้างงานจากกิจกรรมการแนะนำงานอาชีพนั้น ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวอาจเป็นการจัดโดยสถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อแนะนำงานอาชีพโดยตรง หรือสำนักงานคุมประพฤติประสานงานให้วิทยากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นสำนักงานจัดหางานจังหวัด  เป็นผู้มาให้คำแนะนำงานอาชีพแก่กลุ่มผู้ถูกคุมความประพฤติพร้อมๆ กันในคราวเดียวก็ได้

           ๙. การจัดให้ทำงานบริการสังคมเป็นการจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แก่สังคม ชุมชน หรือองค์กรสาธารณะกุศล โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือค่าจ้าง ทั้งนี้โดยความยินยอมของผู้ถูกคุมความประพฤติและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร โดยมีการกำหนดประเภท/ลักษณะของงานที่ปลอดภัยเหมาะสมกับเพศ วัยและสมรรถนะของผู้ถูกคุมความประพฤติ การจัดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติทำงานบริการสังคมนี้ถือเป็นกิจกรรมการแก้ไขฟื้นฟูรูปแบบหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ถูกคุมความประพฤติตระหนักและมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคมมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาความภาคภูมิใจและคุณค่าแห่งตนเองและเสริมสร้างวินัยของผู้ถูกคุมความประพฤติได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังจะเป็นการช่วยให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับส่วนรวมจากการกระทำผิดของตนด้วยการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมโดยส่วนรวมนั้น

          ๑๐. การสงเคราะห์ เป็นการปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติในการให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือแก่ผู้ถูกคุมความประพฤติในด้านต่างๆ ในระหว่างการคุมความประพฤติ การให้การสงเคราะห์ดังกล่าวแยกเป็นการให้การสงเคราะห์ในด้านต่างๆ เช่น การสงเคราะห์ค่าพาหนะ  การสงเคราะห์ค่าอาหาร  การสงเคราะห์ด้านการศึกษา การสงเคราะห์เงินทุนประกอบอาชีพ เป็นต้น

             ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จในการแก้ไขฟื้นฟู คือ ความร่วมมือของผู้ถูกคุมความประพฤติ ครอบครัว บุคคลใกล้ชิด และชุมชน ซึ่งสามารถสนับสนุนช่วยเหลือให้ผู้ถูกคุมความประพฤติปรับตัวและปรับปรุงแก้ไขพฤตินิสัยให้เป็นพลเมืองดี มีการประพฤติปฏิบัติที่เป็นไปในทางที่พึงปรารถนาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้สามารถดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข ดังนั้น การปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติจึงอาจมีการปฏิบัติงานในรายละเอียดอื่นๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงไว้ได้อย่างไม่จำกัด โดยที่สามารถยืดหยุ่นและมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างออกไปได้ขึ้นอยู่กับบริบทและรายละเอียดของผู้ถูกคุมความประพฤติแต่ละรายนั้น ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้เป้าหมายเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมความประพฤติให้กลับตนเป็นพลเมืองดีเป็นสำคัญ

วิสัยทัศน์ (Vision) :

"เป็นองค์กรมาตรฐานในการสร้างหลักประกันความปลอดภัยของชุมชนจากผู้กระทำผิดในระบบการคุมประพฤติ ในปี 2563"

 

พันธกิจ (Mission) :

  1. แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชน
  2. ขับเคลื่อนการทำงานแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนด้วยบุคลากรมืออาชีพ

 

 

ภารกิจกรม

1.การคุมประพฤติ

      1.1 งานแสวงหาข้อเท็จจริง (สืบเสาะและพินิจ)

           งานแสวงหาข้อเท็จจริงเป็นกระบวนการสืบเสาะและพินิจและการสืบเสาะข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประวัติภูมิหลังทางสังคม และพฤติการณ์คดีของผู้กระทำผิด รวมทั้งรายละเอียดหลักฐานต่าง ๆ ของผู้กระทำผิด โดยพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้นำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์ประเมิน และจัดทำรายงาน พร้อมความเห็นเพื่อประกอบดุลพินิจของผู้มีอำนาจในการพิจารณาว่าจะใช้มาตรการใดจึงเหมาะสมกับผู้กระทำผิดเป็นรายบุคคล

      1.2 งานคุมความประพฤติ (ควบคุมและสอดส่อง)

           งานคุมความประพฤติ เป็นกระบวนการควบคุม สอดส่อง ติดตาม ดูแล ให้คำแนะนำ และช่วยเหลือผู้กระทำผิดภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ เพื่อช่วยให้ผู้กระทำผิดปรับปรุงแก้ไขนิสัย ความประพฤติ    จนสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุขและไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

 

  1. การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

     การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในระบบบังคับบำบัด ถือว่าผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วยมิใช่อาชญากร   จึงนำเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติด ยาเสพติด พ.ศ. 2545 โดยมีการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่

       2.1 งานตรวจพิสูจน์

             การตรวจพิสูจน์ เป็นการแสวงหาและประมวลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ เพื่อวิเคราะห์และประเมินองค์ประกอบ ทางกาย จิตใจ และสังคม ว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์เป็นผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดหรือไม่พร้อมทั้งกำหนดแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่เหมาะสมสำหรับผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดแต่ละรายนั้น

      2.2 งานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

           งานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นการดำเนินการบำบัดอาการติดยาเสพติดและฟื้นฟู  สภาพร่างกายและจิตใจของผู้ติดยาเสพติด  รวมถึงการเตรียมความพร้อมทางร่างกายและจิตใจของผู้เสพ  ยาเสพติดให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุขซึ่งแบ่งออกเป็นการฟื้นฟูฯ  แบบควบคุมตัวและการฟื้นฟูฯ แบบไม่ควบคุมตัว

     2.3 งานติดตามผล

          งานติดตามผล เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยการติดตามดูแลและช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ที่ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้ว เป็นระยะเวลา 1 ปี

 

  1. การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด

    การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเป็นการปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติในการปรับเปลี่ยน แก้ไข และเสริมสร้างคุณลักษณะทางจิตใจ พฤติกรรม และนิสัยความประพฤติของผู้กระทำผิด ด้วยกระบวนการ/วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เรียกว่า กิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูหรือโปรแกรมแก้ไขฟื้นฟู ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้กระทำผิดมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะของการมีพฤติกรรมที่พึงปรารถนา เคารพกฎระเบียบของสังคม ไม่กระทำผิดกฎหมาย มีคุณภาพชีวิตและสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม  ได้อย่างมีความสุข การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด เป็นส่วนหนึ่งของงานควบคุมและสอดส่อง โดยการให้ความช่วยเหลือ แนะนำ แก้ไข ปรับปรุง และส่งเสริมให้ผู้ถูกคุมความประพฤติได้กลับตนเป็นพลเมืองดี ด้วยกิจกรรมหลักต่าง ๆ เช่น การให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา การอบรมให้ความรู้และฝึกทักษะชีวิต การจัดให้เข้าค่ายจริยธรรม การจัดให้ทำงานบริการสังคม การเข้าค่ายยาเสพติด  รวมทั้งการให้การสงเคราะห์ด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข และป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

 

  1. การสงเคราะห์ผู้กระทำผิด

    การสงเคราะห์ผู้กระทำผิด ที่กรมคุมประพฤติได้ดำเนินการประกอบด้วย การสงเคราะห์ผู้กระทำผิดระหว่างคุมประพฤติ และการสงเคราะห์ผู้กระทำผิดภายหลังปล่อยหรือภายหลังพ้นการคุมความประพฤติ เป็นการช่วยส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการแก้ไขฟื้นฟูและฝึกฝนตัวเองของผู้กระทำผิด เพื่อให้ผู้กระทำผิดสามารถช่วยเหลือตนเองและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามสมควร และไม่หวนกลับไปกระทำผิดอีก โดยมีบริการให้การสงเคราะห์ เช่น การให้การศึกษา การส่งเสริมด้านการหางาน การฝึกอาชีพ การสงเคราะห์ด้านทุนประกอบอาชีพ ค่าอาหารและค่าพาหนะ เป็นต้น

 

  1. การทำงานบริการสังคม

    งานบริการสังคม เป็นมาตรการเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดประการหนึ่ง ด้วยการให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดได้ทำงานรับใช้สังคม โดยการมอบหมายงานให้ทำ ซึ่งผู้กระทำผิดจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่ขณะเดียวกันการได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม ส่งผลให้ผู้กระทำผิดเกิดความรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า ทั้งการทำงานจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์และให้โอกาสผู้กระทำผิดได้ฝึกหัด เรียนรู้  ทดสอบความสามารถ พัฒนาความมีวินัย ความรับผิดชอบ เสริมสร้างสมาธิ ทักษะในการทำงาน รวมทั้งการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล

 

  1. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

    กรมคุมประพฤติได้นำภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจดังนี้

        6.1 งานอาสาสมัครคุมประพฤติ

             งานอาสาสมัครคุมประพฤติ มีหลักการอยู่บนพื้นฐานแนวความคิดการมีส่วนร่วมของประชาชน    ซึ่งกรมคุมประพฤติมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนที่มีความสนใจ เสียสละ มีคุณสมบัติเหมาะสม สมัครเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน แสวงหาข้อเท็จจริง การติดตาม การสอดส่อง รวมทั้งการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการคืนคนดีสู่สังคมอาสาสมัครคุมประพฤติ (อ.ส.ค.)

      6.2  โครงการเครือข่ายยุติธรรมชุมชน

            โครงการเครือข่ายยุติธรรมชุมชน ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกระทรวงยุติธรรมในฐานะเป็นหุ้นส่วนและมีบทบาทในการดำเนินงาน เช่น การป้องกันและแก้ไขอาชญากรรม การแก้ไขและฟื้นฟูและช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้กระทำผิด การลดข้อพิพาทความขัดแย้งในชุมชน เป็นต้น  และได้อบรมพัฒนาให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกเครือข่ายยุติธรรมชุมชนเกี่ยวกับบทบาทภารกิจของกระทรวงยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานร่วมกับภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้มีการรวมตัวของสมาชิกเครือข่ายยุติธรรมชุมชนในการจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชน เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการสร้าง ความเข้มแข็ง ความเป็นธรรมและความสงบสุขแก่ชุมชนและสังคมต่อไปสมาชิกเครือข่ายยุติธรรมชุมชน

 

 

อำนาจหน้าที่

(1) ดําเนินการสืบเสาะและพินิจ ควบคุมและสอดส่อง แก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์ผู้กระทําผิดในชั้นก่อนฟ้อง ชั้นพิจารณาคดีของศาล และภายหลังที่ศาลมีคําพิพากษาตามที่กฎหมายกําหนด

(2) ดําเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

(3) ส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับการดําเนินการแก้ไข ฟื้นฟู และสงเคราะห์ผู้กระทําผิดในชุมชน

(4) พัฒนาระบบ รูปแบบ และดำเนินการสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เพื่อบรรเทาผลร้ายหรือการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิด

(5) พัฒนาระบบ รูปแบบ และวิธีการปฏิบัติต่อผู้กระทําผิดในชุมชน

(6) จัดทําและประสานแผนงานของกรมให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนแม่บทของกระทรวง รวมทั้งเร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัด

(7) เสริมสร้าง สนับสนุน ส่งเสริม และประสานงานให้ชุมชน เครือข่ายและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบเครือข่ายยุติธรรมชุมชนหรือรูปแบบอื่นในการป้องกันสังคมจากอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทําผิดและผู้ที่อยู่ในกระบวนการคุมประพฤติของกรม

(8) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ผู้บริหาร

 นายพิพัฒน์ ว่องธีรกิจโกศล
ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต

 

    มี 19 ผู้มาเยือน และ ออนไลน์

  ผู้เยี่ยมชมวันนี้ 49
  ผู้เยี่ยมชมเมื่อวานนี้ 61
  ผู้เยี่ยมชมสัปดาห์นี้ 110
  ผู้เยี่ยมชมเดือนนี้ 1665
  ยอดผู้เยี่ยมชม 49482