Probation News :

 นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน กรมคุมประพฤติ - ประกาศเมื่อ..10 มกราคม 2566 ...:3263
  1. แผนภูมิแสดงขั้นตอนและระยะเวลาการให้บริการ
  2. ประชาสัมพันธ์

งานอาสาสมัครคุมประพฤติ

ที่มาของงานอาสาสมัครคุมประพฤติ

        กรมคุมประพฤติมีภารกิจในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคม และได้เริ่มดำเนินโครงการอาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ จากแนวคิดเกี่ยวกับสังคมควรมีระบบและกลไกในการป้องกันตนเองจากปัญหาอาชญากรรมและการกระทำผิดซ้ำนอกเหนือไปจากระบบงานยุติธรรมทางอาญา ซึ่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ได้ผลดี คือ การให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากอาชญากรรม และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผู้กระทำผิดในชุมชน ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ตลอดจนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดพ.ศ.๒๕๔๕ ทำให้ภารกิจของกรมคุมประพฤติกระทรวงยุติธรรมมีมากขึ้น เพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนและทำให้การดำเนินงานอาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนสามารถรองรับภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้เกิดประสิทธิภาพ จึงมีระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยอาสาสมัครคุมประพฤติ พ.ศ. ๒๕๔๗ อาสาสมัครคุมประพฤติมีหน้าที่ในการช่วยเหลือพนักงานคุมประพฤติในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้คำแนะนำตักเตือนให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดออกสอดส่องเยี่ยมผู้ถูกคุมความประพฤติติดตามผลผู้ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕

          ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙ กำหนดให้อาสาสมัครคุมประพฤติมีบทบาทตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยบทบาทและวิธีการปฏิบัติงานของอาสาสมัครคุมประพฤติและบทบาทของภาคประชาชน พ.ศ. ๒๕๖๐ และมีคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอนอาสาสมัครคุมประพฤติ ตามระเบียบคณะกรรมการคุมประพฤติว่าด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนอาสาสมัครคุมประพฤติ พ.ศ. ๒๕๖๑  

อาสาสมัครคุมประพฤติมีความสำคัญอย่างไร

            ผู้กระทำผิดต้องการกำลังใจ การยอมรับและให้โอกาสของคนในชุมชน รวมทั้งมีอาชีพมีรายได้เพื่อดำเนินชีวิต อาสาสมัครคุมประพฤติถือเป็นบุคคลในชุมชนที่ใกล้ชิดผู้กระทำความผิดมากที่สุด ในการออกไปเยี่ยมเยียน ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ ให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิต รวมทั้งการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

       ดังนั้น อาสาสมัครคุมประพฤติ จึงเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยให้ผู้กระทำผิดสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่หวนกลับไปกระทำผิดอีก

 

บทบาทของอาสาสมัครคุมประพฤติ

ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยบทบาทและวิธีการปฏิบัติงานของอาสาสมัครคุมประพฤติและ

บทบาทของภาคประชาชน พ.ศ. ๒๕๖๐ ลักษณะ ๑ บทบาทและวิธีการปฏิบัติงานของอาสาสมัครคุมประพฤติ

หมวด ๑ บทบาทของอาสาสมัครคุมประพฤติ ข้อ ๖

อาสาสมัครคุมประพฤติมีบทบาทในการช่วยเหลือพนักงานคุมประพฤติ ดังนี้

(๑) แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด

(๒) ติดตาม ดูแลช่วยเหลือ สงเคราะห์ ผู้กระทำผิดหรือผู้ได้รับการสงเคราะห์

(๓) แสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้กระทำผิด

(๔) ส่งเสริมสนับสนุนภารกิจของกรมคุมประพฤติ

(๕) มีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรม

(๖) บทบาทหน้าที่อื่นตามที่อธิบดีกรมคุมประพฤติมอบหมาย

ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม (๑) – (๖) ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานคุมประพฤติ

คุณสมบัติของอาสาสมัครคุมประพฤติ 

ตามระเบียบคณะกรรมการคุมประพฤติว่าด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนอาสาสมัครคุมประพฤติ พ.ศ. ๒๕๖๑

หมวด ๑ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งอาสาสมัครคุมประพฤติ อาสาสมัครคุมประพฤติต้องมี

คุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีอายุตั้งแต่ยี่สิบเอ็ดปีบริบูรณ์ขึ้นไป

(๒) สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือเป็นผู้มีความรู้

หรือประสบการณ์ไม่น้อยกว่าสองปี ในด้านการแก้ไขฟื้นฟู ด้านการสงเคราะห์ ด้านการพัฒนา

สังคมหรือชุมชน  ด้านการพัฒนาพฤตินิสัย หรือด้านกระบวนการยุติธรรม หรือเป็นที่ยอมรับ

จากประชาชน ชุมชน หรือสังคม

(๓) ประกอบอาชีพโดยสุจริตหรือดำรงชีพโดยสุจริต

(๔) มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งแน่นอน

(๕) มีความประพฤติดี ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมและมีความเสียสละเป็นอย่างสูงพร้อม

ที่จะอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานคุมประพฤติด้วยความเต็มใจ

(๖) สุขภาพร่างกายหรือจิตใจไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน

(๗) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ คนไร้ความสามารถหรือ

เสมือนไร้ความสามารถ 

การสิ้นสุดสถานภาพของอาสาสมัครคุมประพฤติ ตามระเบียบคณะกรรมการคุมประพฤติว่าด้วยการแต่งตั้งและถอดถอนอาสาสมัครคุมประพฤติ พ.ศ. ๒๕๖๑ หมวด ๓ การสิ้นสุดสถานภาพและการถอดถอนอาสาสมัครคุมประพฤติ 

ข้อ ๑๐  อาสาสมัครคุมประพฤติมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละหกปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ ให้มีการประเมินอาสาสมัครคุมประพฤติทุกสองปี ตามแบบที่กรมคุมประพฤติกำหนด โดยผู้ผ่านการประเมินจะต้องเป็นผู้มีความประพฤติดี ประสงค์ที่จะปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครคุมประพฤติและปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย 

ข้อ ๑๑ อาสาสมัครคุมประพฤติสิ้นสุดสถานภาพลง ในกรณีดังต่อไปนี้

                   (๑) ครบกำหนดวาระ

                   (๒) ตาย

                   (๓) ลาออก

                   (๔) ถูกถอดถอน

งานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕

ก่อนที่พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ จะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๔๖ ผู้เสพยาเสพติดและที่ผู้ติดยาเสพติด ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติจะได้รับการพิพากษาจากศาลยุติธรรมซึ่งมีบทลงโทษ จำคุก หรือ รอลงอาญา หรือปรับ ทำให้มีประวัติการกระทำความผิดทางอาญา ต่อมารัฐบาลมีนโยบายว่า ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วย ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล รักษา บำบัดฟื้นฟูฯอย่างถูกต้องเหมาะสมแทนการลงโทษทางอาญา จึงตราพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕  ออกใช้โดยมีข้อดีคือ ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดจะได้รับการดูแล บำบัดฟื้นฟูฯในฐานะผู้ป่วยในระหว่างการบำบัดฟื้นฟูฯโดยพนักงานอัยการจะชะลอฟ้องคดีไว้ก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความผิดได้รับโอกาสเข้าบำบัดฟื้นฟูก่อน  และเมื่อผ่านการบำบัดฟื้นฟูฯแล้ว ผลการบำบัดฟื้นฟูฯ เป็นที่พอใจจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ก็จะไม่ถูกดำเนินคดีในทางอาญาและพ้นสภาพผู้กระทำผิด ไม่มีคดีอาญาติดตัว สามารถไปศึกษาต่อหรือทำงานได้เช่นคนปกติทั่วไป

เมื่อผู้เสพยาเสพติดถูกจับกุมดำเนินคดี ใน ๔ ฐานความผิด ดังนี้

๑.  เสพยาเสพติด

๒.  เสพและมีไว้ในครอบครอง

๓.  เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

๔.  เสพและจำหน่าย

โดยที่ปริมาณยาเสพติดที่มีอยู่ในความครอบครอง ไม่เกินปริมาณตามที่กฎกระทรวงกำหนด หรือไม่เกิน ๕ หน่วยการใช้ เช่นกรณียาบ้า ต้องไม่เกิน ๕ เม็ด

เมื่อเป็นผู้ต้องหาตาม ๔ ฐานความผิดข้างต้น  พนักงานสอบสวนจะส่งต่อไปยังศาล หากเป็นบุคคล อายุเกิน ๑๘ ปี ต้องส่งตัวภายใน ๔๘ ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเยาวชน อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ต้องส่งตัวภายใน ๒๔ ชั่วโมง เมื่อศาลจะพิจารณาว่าเป็นการกระทำผิดในฐานความผิดทั้ง ๔ และเป็นผู้ต้องหาอยู่ในระหว่างจับกุมหรือพิจารณาดำเนินคดีอื่นหรือไม่ หากศาลพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่การกระทำผิดใน ๔ ฐานความผิดข้างต้น หรือมีคดีอาญาอื่น ๆ ศาลจะดำเนินการตามกระบวนการทางอาญาตามปกติเดิม แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดอยู่ในฐานความผิดทั้ง ๔ ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ และไม่มีคดีอาญาอื่น ๆ ศาลจะสั่งให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ พนักงานคุมประพฤติตรวจพิสูจน์ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกเรียกว่า “ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์”

 

การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในระบบบังคับบำบัด

วิธีในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

  1. การฟื้นฟูฯ แบบไม่ควบคุมตัว

       1.1 การฟื้นฟูฯ แบบผู้ป่วยนอก 

          ใช้ฟื้นฟูฯ ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯที่เป็นผู้เสพยาเสพติด และมีประวัติการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่รุนแรง แนวทางในการบำบัดฟื้นฟูฯ คือ ส่งตัวไปเข้าโปรแกรม กาย จิต สังคม บำบัด(matrix) ในสถานพยาบาลของรัฐบาล ในระยะเวลา  ๔ เดือน

       1.2 การฟื้นฟูฯแบบผู้ป่วยใน

         ใช้ฟื้นฟูฯ ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ที่เป็นผู้เสพยาเสพติด และมีประวัติการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่รุนแรง แต่มีความผิดปกติทางกาย/จิตแนวทางในการบำบัดฟื้นฟูฯ คือ ส่งตัวไปเข้ารับการบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยใน ในโรงพยาบาลของรัฐบาลในระยะเวลา ๔ เดือน

       1.3 การฟื้นฟูฯในโปรแกรมสำนักงานคุมประพฤติ

          ใช้ฟื้นฟูฯ ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ที่เป็นผู้ใช้สารเสพติด และมีประวัติการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดไม่นาน โดยพนักงานคุมประพฤติจะเป็นผู้บำบัดฟื้นฟูฯ ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ กลุ่มนี้ โดยใช้โปรแกรมพื้นฐาน และพิจารณาใช้โปรแกรมเฉพาะด้าน ที่เหมาะกับบริบทของผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ รายนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีการนำแนวคิดทางพุทธศาสนามาใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เช่น โปรแกรมวิถีพุทธ ค่ายจริยธรรม เป็นต้น นอกจากที่ยังมีโครงการระยะสั้น ได้แก่ ค่ายก้าวใหม่ ค่ายยาเสพติด หรือโครงการศิลปะบูรณาการ การฟื้นฟูฯ ในโปรแกรมสำนักงานคุมประพฤติใช้เวลา 6 เดือน

  1. การฟื้นฟูฯ แบบควบคุมตัว

       2.1 การควบคุมตัวเข้มงวด

        ใช้ฟื้นฟูฯผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯที่เป็นผู้ติดยาเสพติดขั้นรุนแรง และมีประวัติการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดรุนแรง มีแนวโน้มที่จะหลบหนี ตลอดจนสร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัวและชุมชน  โปรแกรมที่ใช้ในการบำบัดฟื้นฟูฯ คือ ชุมชนบำบัด และโปรแกรมจิราสา ใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูฯ เป็นเวลา ๔-๖ เดือน สถานที่ฟื้นฟูฯอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานพหุภาคีฯ  ได้แก่ กรมคุมประพฤติ กองทัพอากาศ กองทัพเรือ และกรมราชทัณฑ์

 

      

       2.2 การควบคุมตัวไม่เข้มงวด

          ใช้ฟื้นฟูฯผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯที่เป็นผู้ติดยาเสพติด และมีประวัติการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดค่อนข้างรุนแรง  โปรแกรมที่ใช้ในการบำบัดฟื้นฟูฯ คือ FAST MODELระยะเวลาในการฟื้นฟูฯ ๔ เดือน หน่วยงานฟื้นฟูฯ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ กรมการปกครอง กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต และศูนย์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดนนทบุรี

          เมื่อครบระยะเวลาในการฟื้นฟูฯ หน่วยงานในการฟื้นฟูฯ จะประเมินผลการฟื้นฟูฯ และรายงานให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ พื้นที่ทราบ กรณีที่ผลการฟื้นฟูฯไม่เป็นที่พอใจ คณะอนุกรรมการฯ สามารถขยายระยะเวลาในการฟื้นฟูฯ หรือปรับแผนการฟื้นฟูฯ ให้เข้มมากขึ้นแต่ถ้าผลการฟื้นฟูฯเป็นที่พอใจ หน่วยบำบัดฟื้นฟูฯ จะส่งตัวผู้เข้ารับการฟื้นฟูไปให้พนักงานคุมประพฤติฟื้นฟูฯ ต่ออีก ๒ เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมการปฏิบัติตนในการกลับสู่สังคม

           เมื่อเข้ารับฟื้นฟูฯ ตามโปรแกรมในโปรแกรมกลับสู่สังคมการฟื้นฟูฯ ต่างๆที่เหมาะสมจนครบตามระยะเวลาแล้ว และผลการฟื้นฟูฯ เป็นที่พอใจ ถือว่าผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯผ่านการฟื้นฟูฯ พนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการฟื้นฟูให้พนักงานสอบสวนและอัยการทราบ เพื่อไม่ต้องถูกดำเนินคดีในกรณีดังกล่าว กรมคุมประพฤติจะประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลบประวัติการกระทำผิดออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร แต่ถ้าผลการฟื้นฟูฯไม่เป็นที่พอใจหรือประเมินไม่ผ่านการฟื้นฟูฯ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯประจำเขตพื้นที่สามารถขยายระยะเวลาออกไปครั้งละไม่เกิน ๖ เดือน ภายใน ๓ ปี หรือปรับแผนการฟื้นฟูฯ หรือยกเลิกการฟื้นฟูฯส่งตัวคืนให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกระบวนการพิจารณาปกติต่อไป

ข้อมูลสถานที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ข้อมูล ณ ปัจจุบัน จำนวน 86 แห่ง

กองทัพบก (35 แห่ง)

  1. ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี
  2. กรมทหารพรานที่ 26 ค่ายปักธงชัย   จังหวัดนครราชสีมา
  3. กองพันรบพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ ค่ายฝึกการรบพิเศษปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา (หญิง)

4 .กรมทหารพรานที่ 2๑ ค่ายฝึกการรบพิเศษน้ำพุง จังหวัดสกลนคร

  1. กองพันสัตว์ต่าง กรมการสัตว์ทหารบก จังหวัดเชียงใหม่
  2. กองพลทหารราบที่ 9 (ค่ายสุรสีห์) จังหวัดกาญจนบุรี
  3. ศูนย์การทหารราบ (ค่ายธนะรัชต์)  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  4. จังหวัดทหารบกน่าน (ค่ายสุริยพงษ์) จังหวัดน่าน
  5.  กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ ๒ รักษาพระองค์ (ค่ายจักรพงษ์)  จังหวัดปราจีนบุรี
  6. กรมทหารราบที่ ๑๒ รักษาพระองค์ ค่ายไพรีระย่อเดช จังหวัดสระแก้ว
  7. กองพลทหารราบที่ ๑๑ ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
  8. จังหวัดทหารบก (ค่ายวชิรปราการ) จังหวัดตาก
  9. กองพลทหารราบที่ 5 (ค่ายเทพสตรีศรีสุนทร)  จังหวัดนครศรีธรรมราช
  10. กรมทหารราบที่ 16  ค่ายบดินเดชา จังหวัดยโสธร
  11. กรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ จังหวัดสระบุรี
  12. กรมทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ จังหวัดสระบุรี (ม.พัน23)
  13. กองพันทหารสื่อสารที่ 1 รักษาพระองค์  เขตยานนาวา กรุงเทพฯ
  14. กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 5 เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
  15. กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 7 เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ
  16. กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ จังหวัดปราจีนบุรี
  17. กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ จังหวัดปราจีนบุรี
  18. กองพันทหารม้าที่ 2 กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์  ค่ายพรหมโยธี จังหวัดปราจีนบุรี
  19. กองพันทหารม้าที่ 30 กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ค่ายพรหมโยธี จังหวัดปราจีนบุรี
  20. จังหวัดทหารบกสระแก้ว ค่ายสุรสิงหนาท  จังหวัดสระแก้ว
  21.  กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่12 รักษาพระองค์ ค่ายสุรสิงหนาท จังหวัดสระแก้ว
  22. กองพลพัฒนาที่ 1  ค่ายสุริยวงศ์ จังหวัดราชบุรี
  23. กองพันทหารช่างเครื่องมือพิเศษ ค่ายบุรฉัตร จังหวัดราชบุรี
  24. กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 ค่ายฝึกการรบพิเศษแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
  25. กรมทหารสื่อสารที่ 1 ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน จังหวัดสมุทรสาคร
  26. กรมทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ (กองร้อยกองบัญชาการ กรมทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ )จังหวัดสระบุรี
  27. กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ค่ายจักรพงษ์ )จังหวัดปราจีนบุรี

32  กองพลพัฒนาที่  4 (ค่ายรัตนพล ) จังหวัดสงขลา

  1. กองพันทหารม้าที่ 12 ค่ายพระยาไชยบูรณ์ จังหวัดแพร่
  2. กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 6  เขตหลักสี่  กรุงเทพฯ
  3.  กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 3 จังหวัดลพบุรี

 

กองทัพเรือ (4 แห่ง)

  1. โรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง กองทัพเรือ 1 จ.ชลบุรี
  2. โรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง กองทัพเรือ 2 จ.ชลบุรี
  3. โรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง กองทัพเรือ 3 จ.ชลบุรี
  4.  เรือนจำฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

 

กองทัพอากาศ (13 แห่ง)

  1. กองบินที่ 1 จังหวัดนครราชสีมา
  2. กองบินที่ 2 จังหวัดลพบุรี
  3. กองบินที่ 4 จังหวัดนครสวรรค์
  4. กองบินที่ 21 จังหวัดอุบลราชธานี
  5. กองบินที่ 23 จังหวัดอุดรธานี
  6. กองบินที่ 41 จังหวัดเชียงใหม่
  7. กองบินที่ 46 จังหวัดพิษณุโลก
  8. กองบินที่ 5 (เดิม 53)จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  9. กองบินที่ 56 จังหวัดสงขลา
  10. โรงเรียนการบิน จังหวัดนครปฐม
  11. อาคาร 5017 กองทัพอากาศ เขตดอนเมืองกรุงเทพฯ
  12. กองทัพอากาศทุ่งสีกัน กทม. (ศูนย์ฟื้นฟูฯทุ่งสีกัน)
  13. กองบิน 7 จังหวัดสุราษฏร์ธานี

 

กรมการปกครอง (7 แห่ง)

  1. กองร้อยอาสาฯจังหวัดบุรีรัมย์
  2. กองร้อยอาสาฯจังหวัดพะเยาที่ 2
  3. กองร้อยอาสาฯจังหวัดพิษณุโลกที่ 2 

๔. กองร้อยอาสาฯจังหวัดกาฬสินธุ์

๕. กองร้อยอาสาฯจังหวัดสุราษฏร์ธานี

๖. กองร้อยอาสาฯจังหวัดสตูลที่ 1

๗. กองร้อยอาสาฯจังหวัดหนองคาย

 

กรมการแพทย์ (7 แห่ง)

  1.  สถาบันธัญญารักษ์  จังหวัดปทุมธานี
  2.  ศูนย์บำบัดยาเสพติดเชียงใหม่ฯ จังหวัดเชียงใหม่  
  3.  ศูนย์บำบัดยาเสพติดแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  4.  ศูนย์บำบัดยาเสพติดขอนแก่น  จังหวัดขอนแก่น
  5. ศูนย์บำบัดยาเสพติดสงขลา  จังหวัดสงขลา
  6. ศูนย์บำบัดยาเสพติดปัตตานี  จังหวัดปัตตานี
  7. ศูนย์บำบัดยาเสพติดอุดรธานี  จังหวัดอุดรธานี

 

กองบัญชาการกองทัพไทย (3 แห่ง)

  1. หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 51 จังหวัดอำนาจเจริญ
  2. หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 53 จังหวัดศรีสะเกษ
  3. หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 55 จังหวัดชัยภูมิ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ๑ แห่ง)

  1.  หน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธร จังหวัดเชียงราย

 

กรมสุขภาพจิต (13 แห่ง)

  1.   สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน
  2.  โรงพยาบาลศรีธัญญา จังหวัดนนทบุรี
  3.   สถาบันกัลยาราชนครินทร์ เขตทวีวัฒนา
  4.   โรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่
  5.   โรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี
  6.   โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครรินทร์  
  7.   โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครรินทร์
  8.   โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครรินทร์
  9.   โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครรินทร์
  10. โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครรินทร์
  11. โรงพยาบาลจิตเวชเลยราชนครรินทร์
  12. โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี
  13. โรงพยาบาลจิตเวชสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา

 

ศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด

  1.  ศูนย์พัฒนาชีวิตใหม่ จังหวัดนนทบุรี

 

สังกัดกรมคุมประพฤติ

  1.  ศูนย์ฟื้นฟูฯลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี

 

สังกัดกรมราชทัณฑ์

  1.  ศูนย์ชุมชนบำบัดคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา

 หมายเหตุ*มีทั้งหมด 90 แห่งแต่ปัจจุบันมีการดำเนินงานบำบัดฟื้นฟูฯจำนวน 86 แห่ง

 

การติดตามดูแล ช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ผ่านการฟื้นฟูฯ

          ภายหลังจากผ่านการฟื้นฟูฯแล้วพนักงานคุมประพฤติจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ติดตามดูแล ช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ผ่านการฟื้นฟูฯ ต่อเนื่องไปอีก ๑ ปี เพื่อช่วยเหลือให้คำแนะนำในด้านต่างๆ ให้ไม่หวนไปเสพซ้ำอีกในกรณีที่ไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพนักงานคุมประพฤติจะเป็นผู้ติดตามดูแล ช่วยเหลือ สงเคราะห์ผู้ผ่านการฟื้นฟูฯ หากพบว่าในระหว่างการติดตาม ผู้ผ่านการฟื้นฟูฯกลับไปเกี่ยวข้องกับสารเสพติดอีก พนักงานคุมประพฤติจะช่วยเหลือให้คำปรึกษา แนะนำเพื่อให้ไปกลับไปเสพซ้ำหรือจัดให้ผู้ผ่านการฟื้นฟูฯได้เข้ารับการฟื้นฟูฯในระบบสมัครใจต่อไป

           การฟื้นฟูฯ ผู้เสพยาเสพติด/ผู้ติดยาเสพติด จะสำเร็จหรือไม่เพียงใด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระบวนการในการฟื้นฟูฯเท่านั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากตัวผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯเองว่ามีความมุ่งมั่นตั้งใจในการที่จะเลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้กำลังใจจากคนในครอบครัวและชุมชนในการช่วยเหลือดูแลผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ตลอดจนให้โอกาสแก่ผู้ผ่านการฟื้นฟูฯ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ลูกหลานของท่านให้สามารถเลิกเกี่ยวข้องกับสารเสพติดอย่างแท้จริงและยั่งยืน ซึ่งกรมคุมประพฤติยังมีโครงการ “พ่อแม่อาสานำพาลูกหลายห่างไกลยาเสพติด” เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อแม่และบุคคลในครอบครัวเข้ามาเป็นอาสาสมัครรับผิดชอบดูแลลูกหลานและคนในครอบครัว/ชุมชนของตนให้ปลอดภัยและห่างไกลยาเสพติดอีกด้วย อนาคตลูกหลานอยู่ในมือของท่านจึงขอเชิญมาร่วมช่วยกันนำพาลูกหลานห่างไกลยาเสพติดอย่างยั่งยืนร่วมกับกรมคุมประพฤติ

 

 

การตรวจพิสูจน์

ความหมายของการตรวจพิสูจน์

          การตรวจพิสูจน์ คือ การแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ ทั้งเรื่องประวัติการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และพฤติกรรมการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในระหว่างการตรวจพิสูจน์ หากผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ไม่ได้รับการประกันตัว ก็จะถูกควบคุมตัวระหว่างการตรวจพิสูจน์ กรณีที่เป็นเยาวชนจะถูกส่งตัวไปควบคุมยังสถานที่ควบคุมตัวระหว่างการตรวจพิสูจน์ของเยาวชนซึ่งอยู่ในการดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ส่วนสถานที่ควบคุมตัวระหว่างการตรวจพิสูจน์ของผู้ใหญ่ จะอยู่ภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์ ทั้งนี้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ศูนย์บำบัดยาเสพติดในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  เป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ โดยมีความเห็นร่วมกันว่าใช้ควบคุมตัวผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์  ในกรณีใช้สารระเหย/ติดสารระเหย 

         ในระหว่างการควบคุมตัวระหว่างการตรวจพิสูจน์ ผู้ปกครองหรือญาติของผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ สามารถยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว  ต่ออนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดประจำพื้นที่ เพื่อให้พิจารณาว่าสมควรปล่อยตัวผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์เป็นการชั่วคราว โดยคณะอนุฯจะพิจารณาจากประวัติภูมิหลัง ประวัติการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในการขอปล่อยชั่วคราวอาจต้องใช้หลักทรัพย์เป็นประกันตามฐานความผิดและประเภทยาเสพติดในวงเงิน ๕,๐๐๐ - ๔๐,๐๐๐ บาท หรือแล้วแต่ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฯ และถึงแม้จะได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว แต่ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ยังต้องไปพบพนักงานคุมประพฤติเจ้าของสำนวน ตามที่พนักงานคุมประพฤติเจ้าของสำนวนนัดหมาย เพื่อให้ถ้อยคำและตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ หากในระหว่างการตรวจพิสูจน์พบว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์มีคดีอาญาอื่น ๆพนักงานคุมประพฤติจะต้องแจ้งพนักงานสอบสวนให้ไปรับตัวผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ไปดำเนินคดีอาญาตามปกติ ขั้นตอนในการตรวจพิสูจน์จะใช้เวลาระหว่าง ๑๕-๔๕ วัน ตามกฎหมาย

           เมื่อตรวจพิสูจน์เสร็จสิ้น พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำรายงานผลการตรวจพิสูจน์เสนอให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดประจำพื้นที่ พิจารณาพบว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ไม่เป็นผู้เสพยาเสพติด/ผู้ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ คณะอนุกรรมการจะมีคำวินิจฉัยให้ส่งตัวคืนพนักงานสอบสวนเพื่อกลับไปดำเนินคดีอาญาตามขั้นตอนปกติ แต่ถ้าเป็นผู้เสพยาเสพติด/ผู้ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.๒๕๔๕ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดประจำพื้นที่จะวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์รายนั้นควรเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในโปรแกรมการฟื้นฟูฯที่เหมาะสมต่อไป

 สถานที่เพื่อการควบคุมตัวและสถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์

  1. สถานที่เพื่อการควบคุมตัวและสถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์สำหรับผู้ต้องหาที่มีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ คือ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  2. สถานที่เพื่อการควบคุมตัวและสถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์สำหรับผู้ต้องหาตามมาตรา 19  แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 คือ เรือนจำชั่วคราวห้วยกลั้ง อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

 การประกันตัว

ผู้มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว

         ผู้มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว  ได้แก่  ผู้ที่เข้ารับการตรวจพิสูจน์ หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด บิดา  มารดา บุตร พี่น้องร่วมบิดามารดา พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน สามี ภริยา ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา นายจ้าง  ผู้ปกครองตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ หรือบุคคลที่บิดามารดายินยอมให้เป็นผู้ปกครองดำเนินการแทน หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องอื่น


หลักการประกันที่ใช้ในการขอปล่อยชั่วคราว

หลักประกันมี ๓  ชนิด  ดังนี้

๑. เงินสด

๒. หลักทรัพย์อื่น ๆ เช่น ที่ดินตามโฉนด น.ส.3 หรือ น.ส. 3 ก พันธบัตรของรัฐบาล หรือพันธบัตรของรัฐวิสาหกิจ หรือสลากออมสิน เงินตามสมุดเงินฝากประจำหรือใบรับฝากเงินประจำของธนาคาร หนังสือค้ำประกันของธนาคาร หนังสือรับรองของส่วนราชการตามระเบียบกระทรวงการคลัง

๓. มีบุคคลมาเป็นหลักประกัน

ขั้นตอนการขอให้ปล่อยชั่วคราว

ขั้นแรก   ให้ผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกัน จัดเตรียมเอกสารเพื่อใช้ประกอบการยื่นขอให้ปล่อยชั่วคราว  ดังนี้

๑.  บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับจริงของผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์และนายประกัน (พร้อมสำเนา ๑ ชุด)

๒.  ถ้าผู้ขอประกันหรือผู้เป็นหลักประกันมีคู่สมรสตามกฎหมาย ต้องมีคำยินยอมของคู่สมรส หากเป็นหม้ายให้นำหลักฐานการหย่า หรือใบมรณะบัตรของคู่สมรส หรือทะเบียนบ้านที่มีการแจ้งตาย หน้าชื่อของผู้นั้นมาแสดง

๓.  กรณีหลักทรัพย์เป็นที่ดินตามโฉนด น.ส. ๓ หรือ น.ส. ๓ ก ต้องมีหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินจากพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมแผนที่ตั้งหลักทรัพย์โดยละเอียด หากผู้ประกันมิได้เป็นเจ้าของหลักทรัพย์ต้องมีหนังสือมอบอำนาจตามกฎหมายพร้อมทั้งต้องนำเอกสารใน (๑) ของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมาแสดงด้วย

๔.  กรณีใช้เงินตามสมุดเงินฝากประจำ  หรือใบรับเงินฝากประจำของธนาคารมาเป็นหลักประกัน ต้องมีหนังสือรับรองยอดเงินคงเหลือปัจจุบันของธนาคารและรับรองว่าจะไม่ยอมให้ถอนเงินภายใน ๔๕ วัน  นับแต่วันออกหนังสือ

๕.  กรณีบุคคลเป็นหลักประกัน ให้บุคคลนั้นเสนอหนังสือรับรองจากต้นสังกัดแสดงฐานะ ระดับ อัตราเงินเดือน หรือหนังรับรองสถานะของตนเอง แล้วแต่กรณี และหากมีภาระผูกพันในการทำสัญญาประกัน หรือใช้ตนเองเป็นหลักประกันรายอื่นอยู่ ก็ให้แสดงภาระผูกพันนั้นด้วย


ขั้นที่สอง   ผู้ร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวเขียนคำร้อง ขอให้ปล่อยชั่วคราวพร้อมแนบเอกสารที่จัดเตรียมยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานคุมประพฤติที่รับผิดชอบคดี

ขั้นที่สาม พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งกำหนดวันเวลาฟังผลการพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

ขั้นที่สี่ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในเขตพื้นที่ประชุมพิจารณาการปล่อยตัว และพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบพร้อมทั้งออกใบรับหลักทรัพย์

การสืบเสาะและพินิจ

  1. การสืบเสาะและพินิจผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา๕๖

ความหมาย

การสืบเสาะและพินิจผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ หมายถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติภูมิหลังทางสังคมของจำเลย สภาพความผิดและเหตุอื่นอันควรปรานีก่อนศาลมีคำพิพากษา โดยมีพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งศาลแล้วนำมาวิเคราะห์ ประเมินและทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นเสนอต่อศาล เพื่อใช้ประกอบดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาคดีว่าจะใช้มาตรการใดจึงจะเหมาะสมกับจำเลยเป็นรายบุคคล

วัตถุประสงค์

                    เมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ วรรคแรกสามารถสรุปวัตถุประสงค์การสืบเสาะและพินิจเป็น ๓ ประการ ดังนี้

                    ๒.๑ เพื่อเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นเกี่ยวกับประวัติและภูมิหลังทางสังคมของจำเลยว่าจะใช้มาตรการใดจึงจะเหมาะสมกับจำเลยเป็นรายบุคคล

                    ๒.๒ เพื่อกลั่นกรองผู้กระทำความผิดที่เหมาะสมเข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมและแนวโน้มในการแก้ไขปรับปรุงตนเองในชุมชนของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก

                    ๒.๓ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในชุมชน

หลักการในการปฏิบัติงานสืบเสาะและพินิจ

                    หลักการปฏิบัติงานสืบเสาะและพินิจนั้น อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติงานของกรมคุมประพฤติ และมาตรฐานองค์การสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งพนักงานคุมประพฤติต้องยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติงาน ดังนี้

                    ๑. การปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยเหตุที่ว่าการสืบเสาะและพินิจเป็นกระบวนการในการแสวงหาและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยเพื่อวิเคราะห์และประเมินทำเป็นรายงานพร้อมความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อศาลเพื่อใช้ประกอบดุลพินิจในการพิพากษาให้เหมาะสมกับจำเลยแต่ละบุคคล ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานจึงต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชนยอมรับและเชื่อถือ

                    ๒.การเก็บรักษาความลับ   พนักงานคุมประพฤติต้องปกปิดข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบเสาะและพินิจไว้เป็นความลับ ไม่นำไปเปิดเผยนอกอำนาจหน้าที่ของตนเว้นแต่ในกรณีของการปรึกษาหารือในการปฏิบัติงาน และการศึกษาวิจัยในทางวิชาการเท่านั้น

                    ๓. การวางตัวเป็นกลาง พนักงานคุมประพฤติต้องปฏิบัติหน้าที่ค้นหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงของจำเลยและจัดทำรายงานพร้อมทั้งความเห็นและข้อเสนอแนะต่อศาลด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกของตนเป็นเกณฑ์ตัดสิน ปฏิบัติงานโดยปราศจากความลำเอียง ที่เกิดจากความชอบหรือไม่ชอบเป็นการส่วนตัวและไม่ปฏิบัติงานในลักษณะเลือกที่รักมักที่ชังทั้งต่อตัวจำเลย ผู้เสียหายและบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดี โดยยึดหลักเกณฑ์และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยแต่ละรายเป็นสำคัญ

                    ๔. การยอมรับในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์  แม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายและอยู่ระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล แต่จำเลยก็ยังคงมีสถานภาพเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นปัจเจกบุคคลผู้หนึ่งที่มีศักดิ์ศรีและมีสิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย ดังนั้นการดำเนินการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ก็จะต้องเป็นไปโดยยอมรับในความเป็นมนุษย์ด้วยการให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีของจำเลยนั้น การสอบปากคำและการปฏิบัติใดๆ กับจำเลยจึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังและคำนึงถึงหลักการนี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งในส่วนผู้เสียหาย พยาน และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นต้องได้รับการให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน

                    ๕. การยอมรับในศักยภาพที่จะกลับตนเป็นพลเมืองดีของจำเลย ในการสืบเสาะและพินิจเพื่อกลั่นกรองผู้กระทำความผิดที่เหมาะสมเข้าสู่กระบวนการควบคุมและสอดส่องนั้น พนักงานคุมประพฤติจะต้องให้การยอมรับในศักยภาพของจำเลยในการปรับปรุงแก้ไขตนเองเพื่อกลับตนเป็นพลเมืองดี โดยคำนึงถึงแนวโน้มในการแก้ไขปรับปรุงตนเองในชุมชนของจำเลยเป็นสำคัญ

                   ๖. การนำเสนอข้อเท็จจริงตามความเป็นจริงอย่างมีเหตุผลและมีหลักฐาน  การนำเสนอข้อเท็จจริงจากการสืบเสาะและพินิจในรายงานการสืบเสาะและพินิจ จำเป็นต้องเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริงอย่างมีเหตุผลและมีหลักฐานยืนยันได้ มิใช่เป็นการคาดเดาหรือกะเกณฑ์เอาตามความรู้สึกของพนักงานคุมประพฤติเองซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อจำเลย ต่อพนักงานคุมประพฤติ และต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยส่วนรวม

                    ๗. การปฏิบัติงานอย่างมีระบบแบบแผนการปฏิบัติงานสืบเสาะและพินิจถือเป็นการปฏิบัติงานในวิชาชีพ ที่มีระบบระเบียบและขั้นตอนวิธีการเฉพาะ อีกทั้งมีระยะเวลาจำกัดในการปฏิบัติงาน พนักงานคุมประพฤติผู้ปฏิบัติงานสืบเสาะและพินิจจึงต้องคำนึงถึงหลักการในการปฏิบัติงานตามขั้นตอนและวิธีการของการสืบเสาะและพินิจอย่างเคร่งครัด ภายใต้การวางแผนในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

                    ๘. การคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ในขั้นตอนการสืบเสาะและพินิจ พนักงานคุมประพฤติอาจจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริง หรือดำเนินการอื่นใดกับพยาน/ผู้เสียหายที่เป็นเด็กหรือเยาวชน การปฏิบัติงานจึงต้องให้ความเคารพสิทธิและความเป็นส่วนตัวของเด็กหรือเยาวชน โดยจะต้องป้องกันผลกระทบในทางเลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กหรือเยาวชนจากการที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการสืบเสาะและพินิจ ฉะนั้น การสอบปากคำหรือดำเนินการอื่นใดกับพยาน/ผู้เสียหายที่เป็นเด็กหรือเยาวชน จะต้องดำเนินการโดยปกปิด มิให้มีการเผยแพร่ให้ผู้อื่นล่วงรู้หรือสามารถบ่งชี้ตัวเด็กหรือเยาวชน พนักงานคุมประพฤติควรจะต้องอำนวยความสะดวกให้ความเชื่อมั่นและความอุ่นใจแก่เด็กหรือเยาวชน มิให้เกิดความวิตกกลัวหรือได้รับความอับอาย เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือได้รับผลกระทบด้านอารมณ์/จิตใจในเชิงลบ รวมทั้งต้องปกป้องมิให้เด็กหรือเยาวชนเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย

                    ๙. การดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายตามหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์  พนักงานคุมประพฤติจะต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญกับตัวผู้เสียหายในฐานะที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำความผิด โดยมิควรมุ่งเฉพาะการแสวงหา และการนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวจำเลยและพฤติการณ์แห่งความผิดเพียงประการเดียว พนักงานคุมประพฤติผู้ดำเนินการสืบเสาะและพินิจจึงต้องปฏิบัติงานอยู่บนพื้นฐานของการรับฟังผู้เสียหาย และแสวงหา หรือ มีการดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายตามหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยให้ความสนใจต่อความต้องการจำเป็นของผู้เสียหาย(ซึ่งตกอยู่ในสภาพเป็นเหยื่ออาชญากรรมหรือการกระทำความผิด) ทั้งด้านวัตถุ สิ่งของ การเงิน อารมณ์ความรู้สึกของผู้เสียหาย รวมทั้งสังคมด้วย

                    ดังนั้น การดำเนินการสืบเสาะและพินิจจึงต้องดำเนินกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เพื่อให้ฝ่ายจำเลยและฝ่ายผู้เสียหายได้มีโอกาสพบปะและเจรจาร่วมกันโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การแสวงหาข้อตกลงร่วมกันในการเยียวยาและ/หรือชดใช้ค่าเสียหาย และประสานสัมพันธภาพระหว่างจำเลยและผู้เสียหายที่สูญเสียไปจากการกระทำผิดของจำเลยให้กลับฟื้นคืนเหมือนเดิม

ขั้นตอนและวิธีการสืบเสาะและพินิจ

                    ขั้นตอนในการสืบเสาะและพินิจจะเริ่มต้นเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจ เจ้าหน้าที่ธุรการของศาลจะแจ้งคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทราบ โดยเจ้าหน้าที่ธุรการในสำนักงานคุมประพฤติเป็นผู้รับคำสั่งจากศาลแล้วนำไปลงทะเบียนรับคดีไว้เป็นหลักฐาน ต่อจากนั้นผู้อำนวยการสำนักงานหรือผู้ที่รับผิดชอบในการจ่ายคดีจึงมอบหมายให้พนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งศาล

                    ในขั้นตอนและวิธีการสืบเสาะและพินิจ มีลักษณะการปฏิบัติงานที่สำคัญ ๓ ประการ คือ

๑. การสั่งสืบเสาะและพินิจของศาล

๒. การปฏิบัติงานของธุรการคดี

๓. การปฏิบัติงานของพนักงานคุมประพฤติ

ประเภทคดีที่ศาลจะสั่งสืบเสาะและพินิจ

                    พระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ วรรคแรก ลักษณะคดีโดยทั่วไปที่จะศาลจะสั่งสืบเสาะและพินิจ ดังนี้

                    ๑.๑ คดีที่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

                    ๑.๒ คดีที่ศาลเห็นว่าจะลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๓ ปี เพราะหากพนักงานคุมประพฤติได้ทำรายงานสืบเสาะและพินิจพร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อศาลว่าจำเลยสมควรจะได้รับโอกาสปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เป็นพลเมืองดี และศาลมีความเห็นตามที่พนักงานคุมประพฤติเสนอ ศาลก็จะสามารถพิพากษารอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษได้

                    ๑.๓ คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว เนื่องจากการสืบเสาะและพินิจ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติภูมิหลังของจำเลย มูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิด ความหนักเบาของพฤติการณ์แห่งคดี แนวโน้มเกี่ยวกับพฤติกรรมของจำเลย เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและปัจจัยที่จะทำให้จำเลยกระทำความผิด และเพื่อพิจารณาว่าสมควรจะนำวิธีการคุมความประพฤติมาใช้กับจำเลยหรือไม่ และถ้าสมควร จะใช้วิธีการอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับจำเลยแต่ละราย

                    แต่กระนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดที่ห้ามมิให้ศาลสั่งสืบเสาะและพินิจคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งได้ แต่โดยปกติศาลจะจำกัดประเด็นการสืบเสาะไว้ในเรื่องที่ศาลต้องการทราบเท่านั้น เช่น ประวัติครอบครัว นิสัยความประพฤติ บ้านและสภาพแวดล้อม หรือเหตุอื่นอันควรปรานี ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ความถูกผิดของจำเลย

วิธีการสั่งสืบเสาะและพินิจ

                    เมื่อศาลเห็นสมควรให้มีการสั่งสืบเสาะและพินิจในคดีใดแล้ว ศาลก็จะมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจในรายงานกระบวนพิจารณา จากนั้นจะมีคำสั่งถึงพนักงานคุมประพฤติ ให้สืบเสาะและพินิจ โดยใช้แบบ ค.ป.๑

ระยะเวลาที่ศาลสั่งให้ดำเนินการ

                    ตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ.๒๕๕๙  ได้บัญญัติไว้ความว่า “เมื่อศาลสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงตามมาตรา ๑๑ ให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจโดยไม่ชักช้า และให้ทำรายงานพร้อมกับความเห็นเสนอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลสั่ง แต่ถ้าไม่อาจทำให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวศาลจะอนุญาตให้ขยายเวลาต่อไปอีกเท่าที่จำเป็นแต่ไม่เกินสามสิบวันก็ได้”

                    จะเห็นได้ว่าตามมาตราดังกล่าวกำหนดให้ส่งรายงานการสืบเสาะและพินิจต่อศาลภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ศาลสั่ง อย่างไรก็ตามบทบัญญัติดังกล่าวก็เปิดโอกาสให้ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการทำรายงานพร้อมความเห็นเสนอต่อศาลได้อีกไม่เกิน ๓๐ วัน ดังนั้นเมื่อพนักงานคุมประพฤติไม่สามารถส่งรายงานการสืบเสาะและพินิจต่อศาล ภายใน ๑๕ วัน พนักงานคุมประพฤติต้องยื่นคำร้องขออนุญาตขยายเวลาต่อศาล

 

  1. การสืบเสาะข้อเท็จจริงผู้ได้รับการพักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุก

ความหมาย

การพักการลงโทษ (Parole) หมายถึง การปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดออกมาอยู่นอกเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษภายใต้เงื่อนไขการคุมประพฤติ ซึ่งเป็นมาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขฟื้นฟูนักโทษให้มีความพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดี มีอาชีพสุจริต และประพฤติตนเป็นพลเมืองดีภายหลังพ้นโทษ มาตรการนี้ถือเป็นประโยชน์ที่ให้นักโทษเด็ดขาดที่ประพฤติตนดี มีระเบียบวินัยระหว่างต้องโทษอยู่ในเรือนจำ และจะพึงกระทำได้เมื่อนักโทษเด็ดขาดนั้นได้รับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของกำหนดโทษตามหมายศาลในขณะนั้น หรือไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีในกรณีต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต และระยะเวลาที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น ให้กำหนดไม่น้อยกว่า ๑ ปี แต่ไม่เกินกำหนดโทษที่ยังเหลืออยู่

การลดวันต้องโทษจำคุก (Good – Time Allowance) หมายถึง การให้ประโยชน์ลดวันต้องโทษจำคุกแก่นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดีในระหว่างต้องโทษอยู่ในเรือนจำ ซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา ถึงที่สุดแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือไม่น้อยกว่าสิบปีในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดระยะเวลา ซึ่งนักโทษเด็ดขาดที่จะได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก ต้องเป็นนักโทษชั้นดีขึ้นไปเท่านั้น และนักโทษเด็ดขาดที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี อยู่ในชั้นกลางขึ้นไป หากออกไปทำงานนอกเรือนจำหรือทัณฑสถาน (ทำงานสาธารณะ) จะได้รับลดวันต้องโทษอีกตามจำนวนวันที่ทำงาน นักโทษที่ได้รับวันลดวันต้องโทษจำคุกสะสมเท่ากับกำหนดโทษที่เหลืออยู่ จะได้รับการพิจารณาปล่อยออกไปอยู่นอกเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ

วัตถุประสงค์

          การปล่อยคุมประพฤติผู้ได้รับการพิจารณาพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก เป็นมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดในชุมชนขั้นตอนภายหลังศาลมีคำพิพากษา ผู้กระทำผิดทั้งสองกลุ่มนี้เป็นนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับโทษในเรือนจำหรือทัณฑสถานมาระยะหนึ่ง และมีความประพฤติดีอยู่ในข่ายตามเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ที่จะพิจารณาปล่อยตัวออกมาสู่สังคมภายนอกก่อนครบกำหนดโทษภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ ซึ่งกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดภายนอกสถานคุมขังเป็นวิธีการแก้ไขฟื้นฟูตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้กระทำแต่ละรายเป็นการป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดกลับไปกระทำผิดซ้ำและสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมภายนอก เป็นกำลังสำคัญให้แก่ประเทศชาติจนถึงสังคมหน่วยย่อยดังเช่นสุจริตชนทั่วไป

หลักเกณฑ์การพิจารณาการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก

การพักการลงโทษ

๑. พฤติการณ์ในระหว่างคุมขังอยู่ในเรือนจำ คือ

          ๑.๑ ความอุตสาหะ

          ๑.๒ ความก้าวหน้าในการศึกษา

          ๑.๓ การทำงานหรือทำความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษ

          ๑.๔ ความประพฤติขณะต้องโทษ

๒. พฤติกรรมก่อนต้องโทษจำคุก

          ๒.๑ ประวัติครอบครัว

          ๒.๒ อาชีพ

          ๒.๓ ข้อเท็จจริงในการกระทำผิด (สาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น)

๓. ผู้อุปการะและที่อยู่อาศัย โดยพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ฐานะ อาชีพ ตลอดจนสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย

ระยะเวลาที่นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการพักการลงโทษ มีดังนี้

- ชั้นเยี่ยม ไม่เกิน ๑ ใน ๓ ของกำหนดโทษ ที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด

- ชั้นดีมาก ไม่เกิน ๑ ใน ๔ ของกำหนดโทษ ที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด

- ชั้นดี ไม่เกิน ๑ ใน ๕ ของกำหนดโทษ ที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด

การลดวันต้องโทษจำคุก

          ๑. นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกให้เดือนละไม่เกิน ๕ วันแต่การลดวันต้องโทษจำคุกจะพึงกระทำได้เมื่อนักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ เดือน หรือไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี ในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลา

          ๒. นักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ เดือน นับตั้งแต่วันต้องจำคุกจนถึงวันที่เข้าหลักเกณฑ์ คือ จำมาแล้ว ๑๘๐ วัน และเป็นชั้นดีขึ้นไป ทั้งนี้ให้รวมวันหักขังเข้าด้วย

          ๓. นักโทษเด็ดขาดได้รับโทษจำคุกมาในกรณีต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา ต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี จึงจะเริ่มได้รับผลประโยชน์จากการลดวันต้องโทษจำคุกตามชั้นที่มีตามหลักเกณฑ์

          นักโทษเด็ดขาดอาจได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกตามชั้นและตามจำนวนวัน ดังต่อไปนี้

- ชั้นเยี่ยม เดือนละ ๕ วัน

- ชั้นดีมาก เดือนละ ๔ วัน

- ชั้นดี เดือนละ ๓ วัน

การขอความร่วมมือสืบเสาะข้อเท็จจริงผู้ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก

          เมื่อเรือนจำ/ทัณฑสถานตรวจสอบรายชื่อนักโทษเด็ดขาดที่เข้าเกณฑ์พักการลงโทษหรือลดวันต้องโทษจำคุกแล้ว เรือนจำ/ทัณฑสถาน จะส่งหนังสือขอความร่วมมือสืบเสาะข้อเท็จจริงนักโทษเด็ดขาดถึงผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ

ระยะเวลาการสืบเสาะข้อเท็จจริงผู้ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุก

          สำนักงานคุมประพฤติต้องส่งรายงานการสืบเสาะข้อเท็จจริงนักโทษเด็ดขาดไปยังเรือนจำหรือทัณฑสถาน ภายใน ๑ เดือน อย่างช้าไม่เกิน ๒ เดือน นับตั้งแต่วันที่สำนักงานคุมประพฤติรับเรื่อง

 

ผู้บริหาร

 นายพิพัฒน์ ว่องธีรกิจโกศล
ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต

 

    มี 25 ผู้มาเยือน และ ออนไลน์

  ผู้เยี่ยมชมวันนี้ 49
  ผู้เยี่ยมชมเมื่อวานนี้ 61
  ผู้เยี่ยมชมสัปดาห์นี้ 110
  ผู้เยี่ยมชมเดือนนี้ 1665
  ยอดผู้เยี่ยมชม 49482